
GROUP TEST : รีวิว MITSUBISHI XPANDER รูปลักษณ์ทันสมัย ภายในอเนกประสงค์ ลงตัวกับช่วงล่างที่ขับสนุก
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เชิญสื่อมวลชนร่วมทดสอบขับ ‘XPANDER-เอ็กซ์แพนเดอร์’ ยานยนต์สไตล์ Subcompact MPV ก่อนการเปิดตัวจริงและประกาศราคาอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งในไทยผู้ผลิตให้นิยามว่านี่เป็นครอสโอเวอร์แบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง ขุมพลัง 1.5 ลิตร เซกเม้นต์ใหม่ที่พร้อมตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุด
โดยเส้นทางที่ใช้ทดสอบนับว่าเป็นเรื่องท้าทายและเป็นบทพิสูจน์สมรรถนะในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เริ่มต้นขับตั้งแต่ภาคเหนือจังหวัดเชียงราย-ขอนแก่น-กรุงเทพฯ ก่อนไปจบที่ภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวม 3,026 กม. ซึ่งมีการแบ่งสื่อมวลชนออกเป็น 6 กลุ่ม และทีมงาน 9Carthai ได้ร่วมทดสอบเป็นกลุ่มที่ 2 จากจังหวัดสุโขทัย-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น รวมระยะทาง 490 กม.
หลังบินลัดฟ้าตั้งแต่เช้าตรู่จากกรุงเทพฯ มาถึงจังหวัดสุโขทัย ทีมผู้บริหารและทีมงานของมิตซูบิชิก็เริ่มกิจกรรมทันที ด้วยการให้ข้อมูลและแนวทางในการพัฒนาของ MITSUBISHI XPANDER อย่างละเอียด ซึ่งแม้ว่ารูปแบบของรถนั้นเป็น Subcompact MPV แต่ทางมิตซูบิชิได้จัดวางตำแหน่งการตลาดของตัวเองให้เป็นรถสไตล์ ‘ครอสโอเวอร์’ โดยได้ถ่ายทอดความแข็งแกร่งและแรงบันดาลใจเพื่อสร้างเซกเมนต์ใหม่ ผสานสมรรถนะอันแข็งแกร่งแบบรถครอสโอเวอร์เข้าไว้กับความอเนกประสงค์เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย ผลิตและเปิดตัวครั้งแรกภูมิภาคในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และมีหลายรุ่นย่อยเป็นทางเลือก ตามติดมาด้วยฟิลิปปินส์ และคิวต่อมาที่เตรียมเปิดตัวคือประเทศไทย เจาะจงทำตลาดเพียง 2 รุ่นย่อยเท่านั้นคือ GLS LTD และ GT
MITSUBISHI XPANDER ได้รับถ่ายทอดความเชี่ยวชาญในการพัฒนารถอเนกประสงค์ของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส โดยออกแบบให้ตัวรถนั้นมีความสูงจากพื้นมากกว่ารถแบรนด์อื่นในระดับเดียวกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการบุกตะลุยได้บนหลากหลายสภาพเส้นทาง และเพียงพอต่อการข้ามผ่านอุปสรรค โดยเฉพาะน้ำท่วมขังที่พบได้บ่อยๆ ในเมืองไทย
ในส่วนของรูปลักษณ์ภายนอกนับเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ XPANDER โดยใช้แนวทางการแบบ Advanced ‘Dynamic Shield’ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนบริเวณด้านหน้าและตำแหน่งของไฟหน้า ส่วนไฟหรี่แบบ Crystal LED นั้นอยู่ด้านบนของฝากระโปรงและเยื้องมาด้านหน้าซุ้มล้อ ช่วยให้ผู้ใช้ทางเท้าและยานพาหนะอื่นๆ สังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น ไฟหน้าติดตั้งในกันชนหน้า เพื่อเลี่ยงไม่ให้แสงจากไฟหน้ารบกวนสายตาผู้ใช้ทางเท้ารวมถึงผู้ขับขี่ยานพาหนะที่สวนมา
นอกจากนี้ในรุ่น GT ยังมาพร้อมไฟตัดหมอกหน้า มือเปิดประตูโครเมียม คิ้วขอบกระจกประตู และแผงกันกระแทกด้านหน้า-ด้านหลัง รวมถึงคิ้วขอบประตูด้านล่างข้างตัวรถ ในรุ่น GT ล้อแม็กแบบทูโทนขนาด 16 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีมิติตัวถังที่ค่อนข้างใหญ่ ความกว้างอยู่ที่ 1,750 มม. ยาว 4,475 มม. สูง 1,700 มม. ระยะฐานล้อ 2,775 มม. ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,520 มม. ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,510 มม. ระยะต่ำสุดถึงพื้น 205 มม. (สำหรับรุ่น GT ล้อ 16 นิ้ว) และมีรัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.2 ม. ซึ่งไม่เพียงเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยบนท้องถนน แต่ยังมอบห้องโดยสารมีความกว้างขวางมากขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้ถูกพัฒนาไว้ในตัวรถที่มอบสมรรถนะการขับขี่ที่ยอดเยี่ยม มาพร้อมกับตำแหน่งที่นั่งขับขี่ที่สูงกว่า
ภายในห้องโดยสารเน้นตกแต่งด้วยโทนสีดำเป็นหลัก พัฒนาจากแนวคิด ‘โอโมเตะนาชิ’ (Omotenashi) หรือการดูแลและใส่ใจในทุกรายละเอียดแบบญี่ปุ่น เพื่อมอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสาร มากด้วยความอเนกประสงค์รองรับการใช้งานได้อย่างครบครันด้วยช่องจัดเก็บของมากมายและช่องชาร์จกระแสไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
มอบความสะดวกสบายและมีความกว้าง ด้วยมิติในห้องโดยสารกว้างและสูง สามารถปรับเบาะที่นั่งได้อย่างอเนกประสงค์ รองรับผู้โดยสาร 7 คน ด้วยพื้นที่ช่วงขาและช่วงไหล่ พร้อมให้ความกว้างขวางสะดวกสบาย อีกทั้งยังปกป้องผู้โดยสารจากเสียงรบกวนได้ค่อนข้างดี และสามารถพับเบาะราบได้เพื่อเพิ่มพื้นที่การบรรทุกสัมภาระ
ครบครันด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ทั้งกุญแจอัจฉริยะและปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ แผงควบคุมระบบปรับอากาศด้านหลัง พวงมาลัยปรับระดับสูง-ต่ำและปรับเข้า-ออก และสวิตช์ควบคุมระบบเครื่องเสียงบนพวงมาลัย พร้อมหน้าจอแสดงผลข้อมูลอเนกประสงค์แบบสามมิติ TFT ขนาด 4.2 นิ้ว พวงมาลัยและหัวเกียร์หุ้มหนัง มีระบบล็อกความเร็วหรือครูสคอนโทรลบนพวงมาลัย จอภาพระบบสัมผัสขนาด 6.2 นิ้ว และเบาะที่นั่งหุ้มหนังและวัสดุหนังสังเคราะห์ทั้ง 3 แถว (เฉพาะรุ่น GT) ส่วนรุ่น GLS LTD เป็นเบาะผ้าสีเบจ พวงมาลัยหุ้มยูรีเทนที่ก้านพวงมาลัยมีเพียงสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงเท่านั้น กุญแจรีโมท เครื่องเสียงดิจิตอลธรรมดา และมาตรวัดแบบ Mono Tone ส่วนที่เหมือนกันรวมๆ คือ สวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศที่เป็นแบบมือหมุนและสวิตช์ปรับแรงลมที่แพดานสำหรับเบาะแถวหลัง ซึ่งก็สามารถกระจายความเย็นได้อย่างทั่วถึง
การออกแบบภายในห้องโดยสารเป็นไปตามอัตลักษณ์ดีไซน์แบบแนวราบ หรือ Horizontal Axis โดยการจัดเรียงแผงควบคุมทั้งหมด ช่วยให้ผู้ขับขี่เข้าถึงอารมณ์การขับเคลื่อนของตัวรถ พร้อมกับช่วยเพิ่มทัศนะวิสัยด้านหน้าและมอบความปลอดโปร่งยิ่งขึ้นแก่ห้องโดยสาร นอกจากนี้ห้องโดยสารมีการพัฒนาให้เงียบขึ้น โดยติดตั้งวัสดุซับเสียงหลายจุดเพื่อลดการสั่นสะเทือน ส่วนบานกระจกหน้าเสริมวัสดุซับเสียง พร้อมเพิ่มความหนาของกระจกด้านข้างบานหน้า 4.0 มม. และบานหลัง 3.5 มม.
MITSUBISHI XPANDER ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์รหัส 4A91 เบนซิน 4 สูบ 1.5 ลิตร DOHC 16 วาล์ว MIVEC (เฉพาะฝั่งไอดี) ใช้โซ่แทนสายพานไทม์มิ่ง ระบบจ่ายเชื่อเพลิงหัวฉีด ECI-MULTI 105 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-มตรที่ 4,000 รอบ/นาที ส่วนระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อถ่ายทอดพละกำลังและแรงบิดของเครื่องยนต์รุ่นนี้โดยเฉพาะ อัตราทดเกียร์ (1) 2.875 (2) 1.568 (3) 1.000 (4) 0.697เกียร์ถอยหลัง 2.300 อัตราทดเฟืองท้าย 4.375 มาพร้อมช่วงล่างแมคเฟอร์สันสตรัท -คอยล์สปริงและเหล็กกันโคลงที่ด้านหน้าและทอร์ชันบีมที่ด้านหลัง
อัดแน่นด้วยระบบความปลอดภัยทั้งในเชิงป้องกันและปกป้อง ทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ASC-Active Stability Control), ระบบป้องกันการลื่นไถล (TCL-Traction Control System), ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HSA-Hill Start Assist System), ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก (ABS-Anti Lock Braking System), ระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EBD-Electronic Brake Force Distribution) พร้อมระบบเสริมแรงเบรก (BA-Brake Assist), ระบบไฟกะพริบฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (ESS-Emergency Stop Signal System) ถุงลมนิรภัยด้านคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงกลับและระบบผ่อนแรงอัตโนมัติ ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง และเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด 5 ตำแหน่งสำหรับผู้โดยสารทุกที่นั่ง นอกจากนี้ในรุ่น GT ยังมาพร้อมกับกล้องมองภาพด้านหลัง
ช่วงทดสอบ : บนเส้นทางที่หลากหลายมีทั้งทางตรงบนพื้นราบ เพื่อพิสูจน์สมรรถนะและอัตราเร่งและความสบายในห้องโดยสาร รวมไปอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ติดตั้งมาให้ในรถได้อย่างเต็มที่ ในขณะการขับบนทางคดโค้งขึ้น-ลงเขา ก็ได้สัมผัสถึงการควบคุมรถ พละกำลังและแรงบิด รวมไปถึงระบบช่วงล่าง ตลอดจนในบางช่วงต้องผ่านเส้นทางที่กำลังก่อสร้างซึ่งเป็นลูกรังขรุขระซึ่งก็ได้พิสูจน์ความแข็วแกร่งของระบบช่วงล่าง รวมระยะทาง 490 กม. โดยในส่วนของรายละเอียดรูปลักษณ์นับเป็นความแปลกใหม่พอสมควรกับรถในสไตล์นี้ และคงรูปแบบที่ความใกล้เคียงกับ Mitsubishi XM Crossover MPV
ที่โดดเด่นคือมุมมองด้านหน้า โดยเป็นไฟหลักซึ่งเป็นแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์ถูกติดตั้งในตำแหน่งต่ำกว่ารถทั่วไป ส่วนไฟหรี่แบบ LED ถูกดีไซน์ให้อยู่ตำแหน่งด้านบนแทน แต่ก็แอบเสียดายถ้าเป็น DRL ก็จะยิ่งดูเท่ทันสมัยยิ่งกว่านี้ ตรงกลางเป็นแถบกระจังโครเมี่ยม 3 แถวถัดลงมาที่ชายล่างมีไฟตัดหมอกกรอบทรงกลมประกบอยู่สองฝั่งซ้ายขวา ตรงกลางชายล่างเป็นการ์ดกันกระแทกสีเงินสะท้อนแสงช่วยเติมเต็มความพรีเมี่ยม (มีเฉพาะรุ่น GT) ส่วนกระจกมองข้างเป็นสีเดียวกับตัวฝังด้วยไฟเลี้ยว LED ปรับและพับเก็บด้วยระบบไฟฟ้า ส่วนมือจับในรุ่น GT เป็นโครเมี่ยม (รุ่น GLS LTD สีเดียวกับตัวรถ)
ไฟท้ายเป็นแบบ illumination Tube เหนือขึ้นบนมุมหลังคามีสปอยเลอร์สีเดียวกับตัวรถ ตรงกลางฝังด้วยไฟเบรกดวงที่ 3 ส่วนล้อแม็กรุ่น GT มีขนาด 16 นิ้ว แบบทูโทนรัดยางขนาด 205/55 รุ่นรองเป็นแม็กขนาด 15 นิ้วแบบโมโนโทนมาพร้อมยาง 185/65
รายละเอียดภายในห้องโดยสาร ภาพรวมดีไซน์นับว่าเฉียบแบบเรียบง่าย แม้มองแบบผิวเผินอาจไม่หวือมากนักแต่ก็ถือว่ามีความลงตัว แต่สิ่งหนึ่งที่ควรปรับปรุงคือวัสดุที่เลือกใช้ โดยเฉพาะกับแผงประตูและชุดแดชบอร์ด ซึ่งผิวสัมผัสค่อนข้างแข็งกระด้าง ที่สำคัญดีไซน์ก็ดูทื่อไปสักนิด ถ้าเพิ่มเติมวัสดุแบบ Piano Black หรือเปลี่ยนเป็นวัสดุแบบซอร์ฟทัชเสริมเข้ามา ก็จะช่วยยกระดับความเนี๊ยบได้แบบชัดเจนขึ้น อีกหนึ่งจุดที่แนะนำว่าควรเพิ่มเติมคือพอร์ตชาร์จไฟหรือจุดเชื่อต่อแบบ USB เพราะมีแค่จุดเดียวคือที่ตัวเครื่องเสียง เมื่อเสียบก็จะปรับการทำงานของเครื่องเสียงให้เป็นโหมด i-Pod ทันที แม้ว่าเราต้องการจะฟังคลื่นวิทยุก็ตามทีเถอะ
ส่วนเบาะนั่งดีไซน์และตำแหน่งการนั่ง โดยรวมนับว่าดีกว่าที่คาดคิด ในแถวหน้าพนักพิงออกแบบให้รับกับสรีระค่อนข้างดี ปีกเบาะไม่สูงมากถึงขั้นค้ำข้อศอก คนรูปร่างเล็กก็ไม่หลวมจนตัวเหวี่ยง คนรูปร่างท้วมใหญ่ก็ไม่อึดอัดจนเกินไป ส่วนฐานเบาะมีความยาวที่เพียงพอสำหรับรับกับใต้ท้องขา ช่วยลดความเมื่อยล้าได้อย่างดีเมื่อต้องขับทางไกล อีกทั้งยังให้ทัศนะวิสัยในการมองเห็นชัดเจน เพราะรางเบาะค่อนข้างสูง ส่วนการปรับตำแหน่งก็เป็นแบบแมนนวลล้วนๆ
สำหรับเบาะแถวสอง หลังจากได้รองนั่งนับว่าโดดเด่นไม่แพ้เบาะคู่หน้า พนักพิงสามารถปรับเอนได้ ตัวฐานเบาะปรับเลื่อนเดิน-หน้า-ถอยหลังได้ ขณะที่เบลท์ถูกติดตั้งมาให้ 3 ตำแหน่ง ส่วนตรงกลางเบาะสามารถพับแยกออกมาเป็นที่วางแขนได้ แต่ไม่มีช่องใส่วางขวดน้ำ อีกทั้งยังเพิ่มความอเนกประสงค์ในกรณีบรรทุกสัมภาระที่มีความยาว จึงช่วยให้วางพาดมาถึงเบาะแถวสองได้โดยไม่ต้องพับเบาะลงทั้งหมด
ส่วนเบาะแถวสาม ก็เป็นสิ่งที่หลายคงมักทำใจกับรถสไตล์นี้ จะให้ผู้ใหญ่มานั่งจริงๆ ก็คงไม่สะดวกเท่าไรนัก ที่เหมาะและพอนั่งได้ก็คงเป็นบรรดาน้องๆ หนูๆ ซะมากกว่า แต่จากการลองนั่งด้วยตัวเองบนระยะทางเกือบ 40 กม. ก็ชี้ชัดว่านั่งได้จริง แต่เงื่อนไขต้องเป็นคนที่ตัวสูงไม่มากหรือคนรูปร่างไม่ถึงกับอ้วนท้วม โดยผู้ขับมีความสูงไม่ถึง 170 ซม. ก็ยังพอนั่งได้ศีรษะไม่ชนเพดาน และก็ไม่ต้องกังวลว่าเข่าจะติด เพราะเบาะแถวสองสามารถเลื่อนเดินหน้าได้ อีกทั้งเมื่อเลื่อนเบาะแล้วคนนั่งในแถวที่สอง พื้นที่หัวเข่าก็ยังเหลืออีกเป็นคืบ แต่ติดตรงที่พนักพิงตั้งชันเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังปวดคอ แต่ก็เข้าใจได้ว่าด้วยพื้นที่ด้านท้ายนั้นถูกจำกัดไว้ด้วยขนาดตัวรถ
อีกหนึ่งจุดที่ต้องกล่าวถึงคือการเก็บเสียง ซึ่งจากข้อมูลบ่งชี้ว่าใช้บานกระจกหน้าที่เสริมด้วยวัสดุซับเสียง และเพิ่มความหนาของกระจกด้านข้างบานหน้า ซึ่งเมื่อขับใช้งานจริงกับระดับความเร็ว 80-100 กม./ชม. เสียงรบกวนที่เกิดจากภายนอกนับว่าหลุดเข้ามาในระดับที่ยอมรับได้ ไม่ถึงกับสร้างความรำคาญต่อผู้คนในห้องโดยสาร แต่เมื่อไหร่ที่ขยับเพิ่มความเร็วไปถึง 120 กม./ชม. ลมที่มาปะทะกับด้านหน้ารถและเสากรอบกระจกบานหน้า ก็ทำให้เกิดเสียงดังขึ้นมาแบบชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการดีไซน์ให้เส้นสายหน้ารถมีความตั้งชันนั่นเอง
สำหรับของขุมพลัง 4A91 ต้องบอกว่าถ่ายทอดสมรรถนะออกมาให้สัมผัสอย่างพอเพียง เมื่อเทียบกับพิกัดและน้ำหนักตัวรถ ภายใต้พละกำลัง 105 แรงม้า ซึ่งเมื่อทำงานผสานกับเกียร์อัตโนมัติแบบ 4 จังหวะ นับว่าขับได้สนุกและมันส์กว่าที่คิด แม้ช่วงต้นอัตราเร่งอาจมาช้าและหน่วงๆ ไปนิด แต่พอความเร็วไหลไปแตะ 100-130 กม./ชม. กำลังนับว่ามีให้เรียกใช้งานอย่างต่อเนื่อง รอบเครื่องไม่ตก รวมๆ แล้วประทับใจกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยช่วงความเร็ว 90 กม./ชม. รอบเครื่อง 2,250 รอบ/นาที, 100 กม./ชม. รอบเครื่อง 2,500 รอบ/นาที, 110 กม./ชม. รอบเครื่อง 2,750 รอบ/นาที และ120 กม./ชม. รอบเครื่อง 3,000 รอบ/นาที ส่วนอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตัวเลขที่แสดงอยู่บนจอบนรถอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ คำนวณออกมา 12.9 กม./ลิตร ทั้งที่การทดสอบครั้งนี้นั้นใช้ความเร็วสูงอยู่ตลอด แถมยังขับขึ้น-ลงเขา ทำให้เกียร์ต้องตัดลงมาเป็นเกียร์ต่ำอยู่บ่อยครั้ง
อีกหนึ่งความโดดเด่นคือ ระบบช่วงล่าง ด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท-เหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่น-บีม ซึ่งถูกเซ็ทมาให้อารมณ์ที่ค่อนข้างเฟิร์มและกระชับ ขับได้สนุกและมั่นใจ แช่ยาวทางตรงบนด้วยความเร็วระดับ 130-140 กม./ชม. ก็ยังลื่นไหลได้แบบนิ่งไม่โคลงเคลงไปมาตามกระแสลมที่ปะทะ ขณะเดียวกันบนทางโค้งยาวๆ หรือโค้งต่อเนื่องรถก็ยังทรงตัวและยึดเกาะถนนได้ดี แม้แอบมีอาการยวบยาบอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ลักษณะเสียอาการ เพราะเป็นผลที่เกิดจากการทำงานของชุดวาล์วที่ติดตั้งเพิ่มเข้ามา เสมือนว่าอีกนัยนั้นต้องการให้มีความนุ่มควบคู่ไปด้วย ส่วนบนทางที่พื้นผิวขรุขระก็สามารถรูดผ่านได้แบบมั่นใจ โดยรถไม่กระเด้งกระดอนจนเสียการควบคุม เช่นกันกับพวงมาลัยเซ็ตออกมาค่อนข้างดีทีเดียว ไม่เบามือจนเกินไป ขณะเดียวกันก็มีความหนืดหน่วงอยู่ในตัว ทำให้ช่วงใช้ความเร็วสูงสามารถควบคุมรถได้ค่อนข้างคมและแม่นยำ
บทสรุป สำหรับการทดสอบ MITSUBISHI XPANDER Compact MPV สไตล์ครอสโอเวอร์คันนี้ ต้องขอเอ่ยปากชมเลยว่าแม้จะมาทีหลังกว่าใคร แต่ก็มีอะไรดีๆ ติดตัวมาด้วยแบบไม่น้อยหน้า ทั้งในส่วนของความอเนกประสงค์ที่ลงตัวกับการใช้งานของกลุ่มยุคใหม่ ผสานดีไซน์ทันสมัยเท่ฉีกแนวมีสไตล์ พร้อมระบบช่วงล่างที่ขับได้สนุก ฉะนั้นว่าใครที่กำลังมองหาหรือว่าคิดที่กำลังตัดสินใจจะซื้อรถในรูปแบบนี้ ลองเปิดใจรับไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เหลือเพียงรอลุ้นราคาว่าจะคุ้มค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้แค่ไหน แต่คาดว่าตัวเลข 7 แสนบาทปลายไปถึง 8 แสนบาทกลางๆ มีให้เห็นแน่นอน
โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เตรียมเปิดตัว MITSUBISHI XPANDER อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 สิงหาคม 2561 นี้ ในงาน BIG MOTOR SALE 2018 มหกรรมยานยนต์เพื่อการขายแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา และพร้อมจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่เครือข่ายผู้จำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ ทั่วประเทศ
รถไฟฟ้าที่น่าสนใจ...
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " GROUP TEST : รีวิว MITSUBISHI XPANDER รูปลักษณ์ทันสมัย ภายในอเนกประสงค์ ลงตัวกับช่วงล่างที่ขับสนุก "