Group Test : รีวิว NISSAN TERRA 4WD สมรรถนะดี ออฟชั่นแน่น เทคโนโลยีความปลอดภัยเพียบ ภายใต้ราคาน่าประทับใจสุดในกลุ่ม PPV
หลังช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นิสสันได้เชื้อเชิญสื่อมวลชนไทยและสื่อจากต่างชาติอีกหลายประเทศ บินลัดฟ้าสู่ดินแดนแห่งเกาะและภูเขาไฟ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมงานเปิดตัว ‘NISSAN TERRA’ ยนตรกรรมในแบบเอสยูวีตัวถังบนแชสซีส์รุ่นใหม่ หรือที่บ้านเราเรียกกันติดปากว่า PPV โดยใช้พื้นฐานจากรถกระบะอย่าง Navara
โดยครั้งนั้นนับเป็นการเผยโฉมลำดับที่สองในโลก และเป็นครั้งแรกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ หลังเปิดตัวแบบเวิล์ดพรีเมียร์ครั้งแรกที่ประเทศจีนไปเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และคิวที่ 3 ก็เป็นประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมในงาน BIG Motor Sale ที่ผ่านมา
ล่าสุดนิสสันจัดทริปให้สื่อมวลชนไทยได้ร่วมพิสูจน์กับสมรรถนะและคุณสมบัติในด้านต่างๆ ของ Terra โดยใช้เส้นทางในจังหวัดเชียงราย ที่มากมายด้วยความท้าทายไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางอันคดโค้งตัดสลับขึ้นลงภูเขาอย่างต่อเนื่อง และเส้นทางออฟโรดให้สัมผัสความสามารถในการบุกตะลุย รวมระยะทางกว่า 130 กม.
NISSAN Terra นับเป็นยานยนต์ที่อยู่ในหมวดหมู่ตัวถังบนแชสซีส์หรือที่คนไทยรู้จักกันดีกว่า PPV-Pickup Passenger Vehicle ซึ่งใช้พื้นฐานแชสซีส์จากรถปิคอัพมาประกอบเป็นรถเอนกประสงค์ แน่นอนว่าตลาดในเมืองไทยก็มีอยู่หลายแบรนด์คู่แข่ง ที่ทำตลาดรถรูปแบบนี้มาก่อนนับ 10 ปี ทั้งโตโยต้า อีซูซุ ฟอร์ด และเชฟโรเลต ซึ่งการมาของนิสสันครั้งนี้หลายคนต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อทำตลาดกลุ่มนี้ช้ากว่าคนอื่น ย่อมต้องมีอะไรที่ดีหรือเหนือกว่ารถในระดับเดียวกัน ในทางตรงกันข้ามหากเทียบกับคู่แข่งแล้วมีหลายๆ จุดด้อยกว่า ก็ย่อมส่งผลเรื่องของการแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับตัวรถ Terra ถูกออกแบบและพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 7 คน พร้อมเบาะนั่งแถวสองที่สามารถพับเก็บได้ โดยทุกที่นั่งสามารถปรับเอนเพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และด้วยแนวคิดนิสสัน อินเทลลิเจนท์ โมบิลิตี (Nissan Intelligent Mobility: NIM) เทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารทุกคน นอกจากนี้ยังเสริมความแข็งแกร่งสำหรับการขับขี่ในทุกสภาพถนน ให้คุณได้เปิดประสบการณ์ใหม่ หรือ ‘Life Lives Outside’ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
รูปลักษณ์ภายนอก การออกแบบด้านหน้าคงเอกลักษณ์เฉพาะด้วยกระจังหน้าโครเมียมแบบ V-Motion พร้อมไฟหน้า LED ดีไซน์ทรงบูมเมอแรง พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวัน (Daytime Running Light) และไฟหรี่แบบ LED เปิด-ปิดอัตโนมัติ
กระจกมองข้างขนาดใหญ่สีเดียวกับตัวรถ สามารถปรับและพับเก็บไฟฟ้าได้ มาพร้อมไฟเลี้ยว LED ส่วนมือจับประตูด้านนอกแบบ Grip type สีโครเมียม เพิ่มความเข้มด้วยคิ้วขอบหน้าต่างสีดำ ขึ้น-ลงรถได้สะดวกด้วยบรรไดข้างขนาดใหญ่ ขณะที่ไฟท้ายเป็น LED แบบ light guide ส่วนล้อแม็กขนาด 18 นิ้ว ที่ให้การขับขี่ที่ตื่นเต้นทั้งการขับขี่สภาพถนนแบบออนโรดและออฟโรด
ภายในห้องโดยสาร นับว่าออกแบบได้ค่อนข้างลงตัว ทุกที่นั่งมีพื้นที่ในการยืดขาที่กว้างกว่าเมื่อเทียบกับรถในระดับเดียวกัน ส่วนเบาะนั่งเป็นแบบหุ้มหนังหนังสีดำตัดขอบด้วยวัสดุสีเบจ สำหรับรุ่น 2.3V 2WD 7AT และ 2.3VL 2WD 7AT (รุ่น 2.3VL 4WD 7AT เป็นเบาะสีน้ำตาล)
ขณะที่ระบบความบันเทิงในรถรุ่นนี้ มีทั้งวิทยุ เครื่องเล่น DVD และ MP3 พร้อมช่องใส่แผ่นดิสก์ 1 ช่อง และหน้าจอแบบทัชสกรีนขนาด 7 นิ้ว พร้อมระบบนำทาง ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับ USB / HDMI และลำโพง 6 จุด โดยสามารถควบคุมระบบเสียงและโทรศัพท์ได้โดยตรงจากพวงมาลัยคนขับ ส่วนระบบปรับอากาศกระจายความเย็นรอบทิศทางแบบ 360 องศา กระจายความเย็นสบายให้ทุกที่นั่งทั่วทั้งห้องโดยสาร โดยสามารถควบคุมความเร็วของพัดลมจากที่นั่งตอนหลังได้อีกด้วย
สำหรับมาตรวัดแสดงข้อมูลการขับขี่อัจฉริยะแบบ 3 มิติ Multifunction Intelligent Display (MID) ที่แสดงผลข้อมูลการขับขี่ ระยะเวลาที่เข้ารับการตรวจสอบสภาพรถ ระดับอุณหภูมิภายนอกรถ นาฬิกาดิจิตอล เสียงเตือนในกรณีที่ไม่ได้ปิดไฟหน้าและสัญญาณเตือนกันการลืมกุญแจภายในรถ
ขุมพลังบล็อกใหม่ โดย TERRA ที่ทำตลาดในไทยนับเป็นเครื่องยนต์ดีเซลบล็อกใหม่ รหัส YS23DDTT ทวินเทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ DOHC ขนาด 2,298 ซีซี มาพร้อมหัวฉีดเชื้อเพลิงระบบไดเร็คอินเจคชัน ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า และมีแรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร (ทุกรุ่นย่อย) ให้อัตราเร่งที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับรถในระดับเดียวกัน จึงทำให้ขับเคลื่อนได้อย่างราบรื่นและทรงพลังเมื่อต้องการ
จับคู่ระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ 7 จังหวะ มาพร้อมโหมดขับขี่แบบแมนนวล (M mode) ที่โดดเด่นด้านพละกำลัง ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4×4 พร้อมระบบล็อกไฟฟ้าเพื่อการใช้งานที่แตกต่างตามสภาพพื้นผิวถนน ฟังก์ชั่น Shift-on-the-fly ทำให้ผู้ขับสามารถเปลี่ยนจากการขับขี่แบบสองล้อหรือ two-wheel drive (2H)
ส่วนรุ่นที่ทำตลาดฟิลิปปินส์ ขับเคลื่อนด้วยครื่องยนต์ดีเซลรหัส YD25 DDTi คอมมอนเรล 4 สูบ เทอร์โบแปรผัน (VGS) พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ให้สมรรถนะสูงสุด 190 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร ระบบเกียร์มีทั้งอัตโนมัติ 7 จังหวะ หรือธรรมดา 6 จังหวะ ซึ่งเครื่องยนต์บล็อกดังกล่าวนี้ก็ประจำการอยู่ใน NAVARA โฉมปัจจุบันที่จำหน่ายในบ้านเรา
เป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อหรือ Four-wheel driver (4H) เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อเจอกับสภาพถนนที่เปียกลื่น นอกจากนี้ยังมีโหมดการขับขี่แบบความเร็วต่ำ Low Range Four-Wheel Drive (4L) สำหรับการขับขี่บนพื้นทราย โคลน ลุยน้ำ ปีนขึ้นที่สูงหรือลงในเส้นทางลาดชัน
ตัวถังบนแชสซีส์ออกแบบมาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งสำหรับการขับขี่แบบสมบุกสมบัน มาพร้อมระบบช่วงล่างหลังคอยล์สปริงแบบ Five-link และเพลาล้อหลังที่แข็งแรง มอบทั้งความสะดวกสบาย และความทนทานให้กับผู้ขับขี่ ระยะความสูงจากพื้นถนนถึงใต้ท้องรถ 225 มม. ลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากพื้นถนนที่ขรุขระมีหลุมบ่อไม่ราบเรียบ หรือการขับรถผ่านพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังได้อย่างมั่นใจ
ติดตั้งเทคโนโลยี นิสสัน อินเทลลิเจนท์ โมบิลิตี-อินเทลลิเจนท์ ไดรฟ์วิง เพื่อเติมเต็มประสิทธิภาพการขับขี่ ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายเทคโนโลยีดังนี้
ด้านความปลอดภัยมาตรฐานมีทั้งแบบ Active Safety ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และแบบ Passive Safety ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของผู้โดยสารขณะเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัย 6 จุด ที่ ตำแหน่งด้านหน้า ด้านข้างของเบาะแถวหน้าและม่านถุงลมในทุกรุ่น เข็มขัดนิรภัยที่เบาะคู่หน้า-เบาะนั่งแถว 2-3 เป็นเข็มขัดสามจุด ELR ปรับระดับได้ นอกจากนี้ยังมีการป้องกันความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารที่เป็นเด็กด้วยจุดยึดเบาะนั่งเด็กแบบ ISOFIX
ส่วนระบบเบรกด้านหน้าเป็นดิสก์เบรกเป็นแบบครีบระบายความร้อน ขณะที่เบรกหลังเป็นดรัมเบรก มาพร้อมป้องกันล้อล็อก (ABS) ระบบกระจายแรงเบรก (EBD) และระบบช่วยเบรก (Brake Assist System: BA) รวมถึงไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังมีปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ (Push Start Button) กุญแจรีโมทอัจฉริยะ (Intelligent Key) เพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวรถยิ่งขึ้นด้วยระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer และระบบเตือนภัยแบบ VSS
**ข้อมูลเปรียบเทียบมิติตัวถัง (เฉพาะรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ)
Nissan Terra 4WD มิติตัวถัง : ความยาว 4,885 มม. กว้าง 1,865 มม. สูง 1,835 มม. มีระยะฐานล้อ 2,850 มม. มีความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 225 มม. (เครื่องยนต์ 2.3 ลิตร 190 แรงม้า แรงบิด 450 นิวตัน-เมตร 1,427,000 บาท)
Ford Everest 4WD มิติตัวถัง : ความยาว 4,893 มม. กว้าง 1,865 มม. สูง 1,862 มม. มีระยะฐานล้อ 2,850 มม. มีความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 225 มม. (เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร 213 แรงม้า แรงบิด 500 นิวตัน-เมตร 1,799,000 บาท)
Isuzu Mu-X 4WD มิติตัวถัง : ความยาว 4,825 มม. กว้าง 1,860 มม. สูง 1,860 มม. มีระยะฐานล้อ 2,854 มม. มีความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 230 มม. (เครื่องยนต์ 3.0 ลิตร 177 แรงม้า แรงบิด 380 นิวตัน-เมตร 1,474,000 บาท)
Toyota Fortuner 4WD มิติตัวถัง : ความยาว 4,795 มม. กว้าง 1,855 มม. สูง 1,835 มม. มีระยะฐานล้อ 2,750 มม. มีความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 193 มม. (เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร 150 แรงม้า แรงบิด 400 นิวตัน-เมตร ราคา 1,499,000 บาท)
Chevrolet Trailbrazer 4WD มิติตัวถัง : ความยาว 4,887 มม. กว้าง 1,902 มม. สูง 1,852 มม. มีระยะฐานล้อ 2,845 มม. มีความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 221 มม. (เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร 180 แรงม้า แรงบิด 440 นิวตัน-เมตร ราคา 1,479,000 บาท)
Nissan Terra ทำตลาด 3 รุ่นย่อย 2.3V 2WD 7AT ราคา 1,316,000 บาท บาท , 2.3VL 2WD 7AT ราคา 1,349,000 บาท และ 2.3VL 4WD 7AT ราคา 1,427,000 บาท มีให้เลือก 5 สี น้ำตาล-เอิร์ธ บราวน์ (Earth Brown), ดำ-แบล็คสตาร์ (Black Star), ขาว-ไวท์เพิร์ล (White Pearl), เงิน-บริลเลียนท์ ซิลเสอร์ (Brilliant Silver) และเทา-ทไวไลท์ เกรย์ (Twilight Gray)
ช่วงทดสอบ On Road และ Off Road
โดยกิจกรรมการขับในทริปนี้เริ่มต้นจากเมืองเชียงรายมุ่งสู่พระตำหนักดอยตุง-ดอยช้างมูบ-ดอยผาฮี้-ดอยผาหมี และวนกลับมายังโรงแรมเอ สตาร์ ภูแล วัลเล่ย์ ซึ่งทริปนี้ทีมงานนิสสันได้จัดรถ TERRAไว้ให้สื่อมวลชนได้ทดสอบ 11 คัน ทีมงาน 9Carthai มีโอกาสได้ขับในรุ่นท็อป คือ 4WD ซึ่งตลอดช่วงเส้นทางนับได้ว่าสามารถพิสูจน์สมรรถนะของขุมพลัง อัตราเร่ง การทำงานของเกียร์รวมไปถึงการทำงานของระบบช่วงล่างได้เป็นอย่างดี
สำหรับช่วงแรกของการขับขบวนทดสอบวิ่งบนเส้นทางเรียบถนนสายหลัก ซึ่งต้องผ่านเขตชุมชนเป็นระยะประมาณ 10 กว่ากม. ผู้ขับก็สามารถพิสูจน์สมรรถนะควบคุมรถและประสิทธิภาพการเบรกได้ค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากบางช่วงมีจราจรคับคั่งตลอดจนมีรถด้านหน้าขับช้า ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนเลนและเบรกอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการควบคุมพวงมาลัยก็ทำได้ค่อนข้างง่าย ด้วยระบบบังคับเลี้ยวแบบแร็คแอนด์พิเนียน (Rack and Pinion) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.7 เมตร แม้ตัวรถมีขนาดใหญ่แต่ก็ทำได้อย่างเบามือ และไม่รู้สึกว่ารถเทอะทะจนยากต่อการขับขี่
อย่างไรก็ดีในส่วนพวงมาลัยก็มีจุดที่ควรปรับปรุงเนื่องจากมีระยะฟรีค่อนข้างเยอะ อีกทั้งจากน้ำหนักพวงมาลัยที่เบามือซึ่งเป็นข้อดีในช่วงความเร็วต่ำนั้น ไม่ได้แปรผันให้หนักหน่วงขึ้นเมื่อใช้ความเร็ว จึงอาจทำให้เวลาขับนั้นรู้สึกหวิวๆ อยู่บ้าง ทำให้ต้องคอยเกร็งมือจับอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันจังหวะการเบรกที่ด้านหน้าเป็นดิสก์หลังเป็นดรัมก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างหน้าไว้ใจ จังหวะการจับของคาลิเปอร์ไม่ไวเกินจนเบรกหน้าทิ่มหรือต้องกดแป้นลึกกว่าเบรกจะทำงาน รวมๆ นับว่าน้ำหนักและจังหวะการทำงานอยู่ในระดับกำลังดี
เมื่อผ่านจากทางราบขบวน Terra ค่อยๆ ไต่ระดับความสูงชันขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งขุมพลังบล็อกใหม่ YS23DDTT เทอร์โบคู่ 190 แรงม้า พร้อมแรงบิดระดับ 450 นิวตัน-เมตร สามารถถ่ายทอดเรี่ยวแรงออกมาให้ผู้ขับได้สัมผัสอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ถึงขั้นดึงระดับหลังติดเบาะ แต่ก็ไม่รู้สึกว่าพละกำลังถดถอยลงไป แม้ก็อาจมีบางจังหวะที่เกียร์นั้นปรับอัตราทดให้ต่ำลงช้าไปสักนิด ในช่วงที่รถต้องการกำลังโดยเฉพาะจังหวะที่ต้องเทคตัวขึ้นเนิน ทำให้ผู้ขับต้องปรับตำแหน่งเกียร์ด้วยตัวเอง
โดยบางช่วงพื้นถนนนั้นมีความชื้นและลื่นจากละอองน้ำค้าง อีกทั้งทางยังค่อนข้างแคบ ทำให้ต้องคอยระมัดระวังกับรถที่สวนทางมาอยู่เป็นระยะ บวกกับมีทางโค้งซ้าย-ขวาสลับไปมา ทีมงานอินสตัคเตอร์จึงแนะนำให้ปรับเปลี่ยนมาใช้เกียร์ 4H โดยไม่ต้องจอดรถซึ่งก็มีส่วนช่วยการขับขี่ทำได้มั่นใจยิ่งขึ้น นอกจากนี้สามารถตอบสมองการขับได้อย่างสนุก ด้วยระบบช่วงล่างหลังคอยล์สปริงแบบ 5-link สามารถช่วยลดอาการโคลงของตัวรถ (Body Roll) ทำให้สามารถควบคุมรถได้อย่างมั่นใจ เช่นเดียวกับผู้โดยสารก็รู้สึกว่านั่งได้สะดวกสบาย แม้บนถนนที่คดเคี้ยว
รายละเอียดภายในโดยสาร ภาพรวมเน้นการออกแบบเรียบง่ายดูดี ซึ่งการเลือกวัสดุตกแต่งแบบคุมโทนไม่โดดแบบแตกต่างกันมาก ช่วยให้รู้สึกดูสบายตาและห้องโดยสารดูกว้าง อีกทั้งเบาะนั่งแบบเธียเตอร์ที่ไล่ระดับ ยังเสริมให้ผู้นั่งทุกตำแหน่งมีมุมการมองเห็นได้โปร่งโล่งไม่อึดอัด นอกจากนี้อีกหนึ่งที่ต้องเอ่ยปากชมก็คือการเก็บเสียงจากภายนอกเข้าสู่ห้องโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นเสียงลม เสียงรบกวนจากพื้นถนน เสียงเครื่องยนต์ทำได้ค่อนข้างดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้กระจกหน้าแบบลดเสียงรบกวนจากภายนอก (Noise-Reducing Acoustic Glass) รวมไปถึงการใช้วัสดุซับเสียงหนาถึง 3 ชั้น
แต่ในแง่ของทัศนะวิสัยการมองของผู้ขับในมุมด้านข้าง อาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก เนื่องจากเสา A-Pillar ค่อนข้างหนา ซึ่งอาจทำให้เกิดจุดอับสายตา ทั้งในช่วงเข้าโค้งลึกๆ หรือการออกจากตัดถนนเพื่อเลี้ยวขวาหรือซ้าย ทำให้ผู้ขับต้องชะโงกหน้าออกมาเพื่อมอง
นอกจากนี้ระหว่างเส้นทางได้มีการทดลองเทคโนโลยีอัจฉริยะที่มีอยู่ TERRA ทั้งเทคโนโลยีกระจกมองหลังอัจฉริยะ (Intelligent Rear View Mirror-IRVM) ช่วยให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารปลอดภัยยิ่งขึ้นเมื่อมีสัมภาระขนาดใหญ่หรือขณะมีผู้โดยสารเต็ม 7 ที่นั่ง รวมไปถึงเทคโนโลยีอัจฉริยะอื่นๆ เช่น กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor-IAVM) เทคโนโลยีตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนวัตถุ และบุคคลที่เคลื่อนไหวจากกล้องรอบคัน (Moving Object Detection-MOD)
อย่างไรก็ตามสำหรับระบบดังกล่าวนี้ แม้ว่ามีส่วนช่วยให้การขับขี่ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็มีจุดที่ควรเปลี่ยนหรือพัฒนาคือ ขนาดของจอ IRVM- IAVM มีขนาดที่ค่อนข้างเล็กเนื่องใช้ร่วมกันกับกระจกมองหลังตรงกลาง อีกทั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูง คนรูปร่างเล็กอาจต้องแหงนหน้ามองพอสมควร ซึ่งถ้าเปลี่ยนมาไว้ที่จอของชุดเสียงกลางคอนโซลก็จะมองได้ง่ายและถนัดตามากยิ่งขึ้น
มาดูกันในส่วนของการเข้า-ออก ห้องโดยสาร ในแถวหน้าไม่มีปัญหาใดๆ แต่ที่หลายคนมักกังวลกับรถยนต์แบบ 7 ที่นั่ง โดยเฉพาะการเข้าไปนั่งในตำแหน่งแถวที่ 3 ซึ่งทีมออกไปคำนึงและให้ความใส่ใจในจุดนี้ จึงได้ติดตั้งระบบพับเบาะอัตโนมัติ (1-Touch Remote Fold and Tumble) สำหรับที่นั่งแถวที่สอง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าออก ซึ่งการปรับใช้งานก็ทำได้ง่ายเพียงกดสวิตช์บริเวณหลังคอนโซลเกียร์
เมื่อหลุดจากการขับทดสอบบนเส้นทางคดโค้งขึ้นลงเขา ก็ต่อเนื่องมาสู่การขับบนทางราบอีกครั้ง ซึ่งสภาพจราจรค่อนข้างโล่งและถนนเป็น 4 เลนมีเกาะกั้นกลาง ทำให้สามารถใช้ความเร็วได้มากขึ้น ซึ่งสมรรถนะของเครื่องยนต์ YS23DDTT ทวินเทอร์โบ สามารถตอบสนองได้ค่อนข้างดี โดยคาแร็คเตอร์ในช่วงการเร่งออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง ถ่ายทอดออกให้สัมผัสแบบนิ่งๆ เนียนๆ แต่ไม่ถึงกับดึงมาก แต่เมื่อไต่ระดับถึงช่วงความเร็วลอยตัวไปแล้ว ประมาณ 90-150 กม./ชม. การเติมคันเร่งเพื่อเพิ่มความเร็วก็ทำได้แบบกระฉับกระเฉงแบบไม่ต้องรอรอบ ทำให้รู้สึกว่าขับได้สนุกและเร่งแซงได้อย่างมั่นใจทีเดียว
ช่วงความเร็ว 90 กม./ชม. ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,550 รอบ/นาที, 100 กม/ชม.รอบ 1,750 รอบ/นาที, 110 กม/ชม.รอบ 2,000 รอบ/นาที, 120 กม/ชม.รอบ 2,000 รอบ/นาที และ 140 กม/ชม.รอบ 2,500 รอบ/นาที
เมื่อขับมายังจุดสตาร์ทก็มาถึงสเตชันสุดท้ายกับทดสอบสมรรถนะแบบออฟโรด บนเส้นทางตามธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งการขับผ่านเนินเพื่อทดสอบมุมเอียง เนินสลับ เนินเขาสูง รวมทั้งการทดสอบขับลุยน้ำ ซึ่งพละกำลังของเครื่องยนต์โดยเฉพาะแรงบิดระดับ 450 นิวตัน-เมตร และฟังก์ชั่น Shift-on-the-fly ที่ให้ผู้ขับสามารถเปลี่ยนจากการขับขี่แบบ 2 ล้อ เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ผสานกับระบบช่วงล่างและเพลาล้อหลังที่แข็งแรง ตลอดความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 225 มม. ทำให้การเคลื่อนผ่านอุปสรรคต่างสามารถทำได้อย่างไม่ยาก อีกทั้งยังมีมาตรแสดงข้อมูลของระบบขับเคลื่อน (Off-Road Meter) แสดงผลของมุมเอียงต่างๆ ในขณะขับขี่ทางออฟโรด จึงช่วยให้สามารถลุยผ่านต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ
ขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่ขับทดสอบในสเตชันออฟโรด ผู้ขับยังได้สัมผัสกับเทคโนโลยีของ นิสสัน อินเทลลิเจนท์ โมบิลิตี้ ในรถเอสยูวีพรีเมี่ยม เช่น เทคโนโลยีช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist-HSA) เทคโนโลยีควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Hill Descent Control-HDC) เทคโนโลยีป้องกันการลื่นไถล (Brake Limited Slip Differential-B-LSD)
สรุป : แม้ว่า NISSAN ส่ง Terra เข้ามาทำตลาดในไทยช้ากว่าคู่แข่งแบรนด์อื่นๆ ซึ่งล้วนลงสนามในตลาดรถกลุ่ม PPV 7 ที่นั่งนี้มาก่อนหน้านับ 10 ปี แน่นอนว่าหลายคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้นิสสันหรือคนที่กำลังเล็งหรือมีคาามคิดว่าจะซื้อ Terra มาครอบครอง ต่างก็ลุ้นและคาดหวังว่าถ้ามาช้ากว่าแบรนด์อื่น ก็ต้องมีอะไรที่ดีหรือเหนือกว่าแน่นอน ซึ่งหลังจากได้เห็นข้อมูลในช่วงเปิดตัวและได้ทำความรู้จักมากขึ้นจากการทดสอบ ก็เพียงพอสำหรับการให้คำตอบได้ว่า ถึงมาช้าแต่ก็ชัวร์! ถามว่าเหนือหรือด้อยกว่าคู่แข่งไหม ก็คงต้องวัดกันเป็นจุดๆ แต่ภาพรวมไม่ว่าทั้งออฟชั่นอำนวยความสะดวกที่ติดตั้งแบบครบครัน เทคโนโลยีความปลอดภัยเพียบๆ บวกกับขุมพลังที่รองรับการใช้งานได้อย่างเพียงพอ ที่สำคัญคือราคาถูกที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับรถในเซกเมนท์เดียวกันครับ (4WD) ซึ่งจากข้อมูลคุณคิดว่าคุ้มไหมก็ต้องพิจารณาและตัดสินใจดูครับ
สิ่งที่อยากให้ปรับปรุง : พวงมาลัยมีระยะฟรีเยอะและเบามือเกินไปเมื่อใช้ความเร็วสูง, จอ IRVM- IAVM เล็กไป ควรย้ายตำแหน่งมาไว้กลางคอนโซล และเสา A-Pillar ค่อนข้างหนา ซึ่งอาจทำให้เกิดจุดอับสายตา
ขอบคุณ : บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
รถไฟฟ้าที่น่าสนใจ...
รถยอดนิยม
Mazda 2 ราคาเริ่มต้น 546,000.
Mazda 3 ราคาเริ่มต้น 969,000.
Mazda CX-3 ราคาเริ่มต้น 769,000.
Nissan Almera ราคาเริ่มต้น 499,000.
Nissan Kicks ราคาเริ่มต้น 889,000.
Nissan Navara ราคาเริ่มต้น 599,000.
Honda City ราคาเริ่ม 579,500.
Honda City Hatchback ราคาเริ่ม 599,000.
Honda City e:HEV ราคา 839,000.
Honda Civic ราคาเริ่ม 874,000.
Mitsubishi Triton ราคาเริ่มต้น 539,000.
Mitsubishi Xpander ราคาเริ่มต้น 789,000.
Mitsubishi Pajero Sport ราคาเริ่มต้น 1,299,000.
Toyota Revo ราคาเริ่มต้น 544,000.
Toyota Yaris ATIV 4 ประตู ราคาเริ่มต้น 529,000.
Toyota Yaris 5 ประตู ราคาเริ่มต้น 539,000.
Toyota Corolla Cross ราคาเริ่มต้น 989,000.
Toyota Fortuner ราคาเริ่มต้น 1,319,000.
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " Group Test : รีวิว NISSAN TERRA 4WD สมรรถนะดี ออฟชั่นแน่น เทคโนโลยีความปลอดภัยเพียบ ภายใต้ราคาน่าประทับใจสุดในกลุ่ม PPV "