
คู่มือทดลองขับเพื่อช่วยเลือกรถคันโปรด
ในวันนี้ 9carthai และ Ford เราขอพาทุกท่านมาพบกับวิธีการเลือกรถคันโปรด ที่ช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกซื้อรถคันที่ใช่ ที่ชอบ ตอบโจทย์การใช้งานของคุณอย่างครบถ้วนกัน
เมื่อเดินทางมาถึงโชว์รูม มี 4 ปัจจัยเป็นเกณฑ์การเลือกรถดังต่อไปนี้
สำรวจรอบคันรถ
– สังเกตสีรอบคันรถ ความเงาของสี การสะท้อนแสง รวมถึงความทนทานต่อรอยขีดข่วน
– สำรวจความประณีตในการประกอบรถ สังเกตรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนว่ามีความสม่ำเสมอกันตลอดคัน
– เช็ควัสดุของตัวรถว่ามีความแข็งแกร่งทนทานเพื่อมอบความปลอดภัยในการใช้งาน หรืออาจหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ารถได้รับการทดสอบและรับรองเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือบ้างหรือไม่
– ลองเปิดประตูรถเพื่อเช็คว่ามีความกว้างที่เหมาะสม สามารถเข้าออกได้อย่างสะดวก จากนั้นลองปิดประตูแล้วฟังเสียง เนื่องจากเสียงที่หนักแน่นสามารถบอกถึงความแข็งแรงของวัสดุที่ใช้ซึ่งยังส่งผลถึงความปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ควรเช็คว่าบานประตูสามารถเปิดได้กว้างเพียงพอกับการนำคาร์ซีทเข้าไปติดตั้งที่เบาะหลัง ถ้าเป็นไปได้ลองเอาคาร์ซีทไปติดตั้งเพื่อเช็คความสะดวกสบายในการติดตั้ง หรืออาจจะพาลูกของคุณไปลองรถพร้อมกัน เพื่อเช็คว่าลูกสามารถเข้าและออกจากตัวรถได้สะดวกหรือไม่
– สำรวจความจุของรถ และประเมินเมื่อเทียบกับพฤติกรรมการใช้งานของเรากับรถคันนี้ว่าความจุของรถเหมาะสม พอเพียงหรือไม่ เช่น ลองเปิดท้ายรถเพื่อให้เห็นว่ามีความกว้างเพียงพอต่อความต้องการของเราหรือไม่ สำหรับผู้ที่เดินทางเป็นประจำ ควรพิจารณาว่าประตูท้าย (หรือกระโปรงท้ายกรณีรถเก๋ง) เปิดได้กว้างพอที่จะยกกระเป๋าเดินทางใส่ได้โดยสะดวกหรือไม่ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเล่นกีฬาและมีถุงอุปกรณ์จำนวนมาก ควรมองหารถที่สามารถพับเบาะหลังได้เพื่อบรรทุกสัมภาระจำนวนมากหรือสิ่งของที่มีขนาดยาวได้ เป็นต้น
– สำหรับการเลือกซื้อรถ SUV หรือ รถกระบะ ควรพิจารณาเรื่องความสูงของรถเพื่อรองรับการใช้งานในกรณีที่ต้องขับผ่านน้ำลึก หรือในกรณีน้ำท่วม สำหรับรถกระบะควรพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องความสามารถในการลากจูงและการบรรทุกน้ำหนักอย่างน้อย 1 ตันขึ้นไป เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่สมบุกสมบัน
สำรวจภายในรถ
– พิจารณาการตกแต่งภายในและความประณีตภายในรถ รถพรีเมี่ยมบางรุ่นจะมาพร้อมกับคอนโซลแบบนิ่มเพื่อเพิ่มความปลอดภัยเมื่อเกิดการชนปะทะ
– พิจารณาวัสดุของเบาะนั่งและพวงมาลัยว่าเป็นแบบที่ชอบหรือไม่
– เบาะที่นั่งรองรับร่างกายได้ดีหรือไม่ เบาะที่ดีควรจะแน่นและบังคับให้กระดูกสันหลังของผู้ขับขี่ตั้งตรงโดยอัตโนมัติเพื่อมอบความปลอดภัยที่มากขึ้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงหมอนรองศีรษะก็ไม่ควรที่จะเอียงไปด้านหลังจนรู้สึกสบายเกินไป เพราะอาจจะเกิดอันตรายกับกระดูกต้นคอเมื่อเกิดการชน
– เบาะที่นั่งด้านหลังควรจะยาวพอที่จะรองรับช่วงต้นขาได้ทั้งหมดเมื่อนั่งลงไป เพราะผู้โดยสารด้านหลังจะสามารถนั่งทางไกลได้โดยไม่ปวดเมื่อย
– สำรวจห้องโดยสารว่ามีความสูงและกว้างถูกใจตามที่ต้องการ
– สำรวจช่องเก็บสิ่งของว่าเหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ ลองจินตนาการถึงเวลาใช้งานจริงว่าต้องเอาอะไรขึ้นรถไปด้วยบ้าง เช่น บางคนต้องมีแก้วกาแฟติดตัวเป็นประจำ บางคนชอบวางโทรศัพท์ไว้ใกล้มือ ลองดูว่าช่องใส่ของเหล่านี้มีเพียงพอและสามารถหยิบถึงได้โดยง่ายหรือไม่
ทดลองขับ
– ลองปรับตำแหน่งที่นั่งให้สบายที่สุด แล้วพิจารณาว่ายังสามารถมองเห็นทัศนวิสัยได้ดีอยู่หรือไม่ รวมถึงเช็คการมองกระจกหลังและกระจกข้างว่าสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน จากนั้นเอื้อมมือลองใช้ปุ่มคอนโทรลต่างๆ เพื่อเช็คความสะดวกสบายในการใช้งาน ผู้ขับขี่ไม่ควรที่จะต้องเอี้ยวตัวมากเกินไปเพื่อปรับเสียงวิทยุหรือใช้งานปุ่มต่างๆ เพื่อความปลอดภัยเวลาขับรถ
– ปรับตำแหน่งพวงมาลัยให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่ ไม่บังหน้าปัทม์
– ลองสตาร์ทเครื่องแล้วนั่งเฉยๆ ผู้ขับขี่ไม่ควรรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนจนเกินไป ถึงแม้ว่าจะเป็นเครื่องดีเซลก็ตาม รถยนต์ที่ดีควรได้รับการออกแบบให้ดูดซับแรงสะเทือนอย่างเพียงพอ
– ลองเปิดหน้าต่าง ฟังความดังของเสียงเครื่องยนต์ว่าเป็นอย่างไร และเปรียบเทียบกับเวลาปิดหน้าต่างเพื่อเช็คว่าเสียงเครื่องยนต์เข้ามาในห้องโดยสารมากเกินไปหรือไม่
– ถ้ามีโอกาสขับออกไปช่วงแดดจ้า ให้ลองสังเกตว่าในห้องโดยสารมีอะไรที่สะท้อนแสงแยงตาเวลาขับหรือไม่ เพราะว่าเวลาขับจริงๆแล้ว ผู้ขับจะต้องอยู่ในสภาวะนั้นเป็นเวลานาน จึงไม่ควรที่จะมีอะไรมารบกวนทัศนวิสัย รวมถึงลองเปิดแอร์ดูว่าเย็นเร็วหรือไม่ หากว่าเร่งความแรงของแอร์แล้วต้องรอเวลานานกว่าอากาศจะเย็นสบายทั่วถึงทั้งห้องโดยสาร อาจจะไม่สะดวกสบายเท่าไรเวลาใช้งานจริงในสภาวะอากาศร้อนจัดอย่างในประเทศไทย
– ลองขับด้วยความเร็วระดับต่ำ สำหรับพวงมาลัยที่มีระบบไฟฟ้าควรมีน้ำหนักเบาในขณะขับที่ขับขี่ด้วยความเร็วต่ำเพื่อมอบความสบายให้แก่ผู้ขับขี่ จากนั้นลองขับช้าๆ สลับกับเบรค เพื่อดูว่าความลึกของเบรคเหมาะสมหรือไม่ เบรคไม่ควรไวเพียงแค่แตะก็เบรคกะทันหัน ไม่นุ่มนวล แต่ก็ไม่ควรลึกเกินไปเพราะว่าอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ ลองเช็ควงเลี้ยวของพวงมาลัยว่าแคบพอหรือกว้างเกินไป โดยเฉพาะรถคันใหญ่หรือรถกระบะ บางคันอาจจะมีรัศมีวงเลี้ยวที่กว้างกว่าซึ่งผู้ขับขี่บางคนอาจจะรู้สึกว่าขับยาก และควบคุมลำบากในเวลาที่ต้องเลี้ยวมุมแคบ หรือต้องกลับรถเพราะไม่สามารถถอยหลังตั้งลำใหม่ได้
– ลองขับผ่านลูกระนาดในความเร็วต่ำเพื่อเช็คว่าพวงมาลัยมีการดึงกลับหรือไม่ รวมถึงการลองปล่อยมือออกจากพวงมาลัยเล็กน้อย พวงมาลัยไม่ควรปัดไปมาจนเกินไปเมื่อวิ่งบนลูกระนาด รถที่ดีควรจะมีระบบที่ดึงพวงมาลัยกลับ ไม่ให้หมุนไปมาจนเกินไปเมื่อวิ่งบนถนนขรุขระ
– ถ้าสามารถทดสอบบนทางโค้งได้ ลองเข้าโค้งด้วยความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำรวจว่ารถแกว่งหรือไม่ โดยเฉพาะรถยกสูงอย่างกระบะ หรือรถ SUV อาจจะมีอาการโยนได้ รถที่ดีต้องมีช่วงล่างแน่น ไม่เทไปข้างใดข้างหนึ่งเวลาเข้าโค้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ขับขี่และมอบความปลอดภัยที่สูงขึ้น
– เพิ่มความเร็วขึ้นมาที่ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลองหมุนพวงมาลัยเร็วให้เหมือนกับว่าต้องหลบสิ่งกีดขวางในระยะกระชั้นชิด เมื่อทำความเร็วขึ้นมาแล้ว พวงมาลัยไฟฟ้าควรจะหนักขึ้นเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการควบคุมรถ นอกจากนี้ลองดูว่าตัวรถมีการทรงตัวที่ดีพอเมื่อมีการหักหลบ เพราะจะลดความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำได้
– ลองเหยียบให้ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง สังเกตความเร็วรอบของเครื่องยนต์ โดยทั่วไปแล้ว ไม่ควรเกิน 2,000 รอบ/นาทีในความเร็วระดับนี้ ถ้ารอบยิ่งต่ำก็จะยิ่งประหยัดน้ำมันดีขึ้น
– เมื่อได้ความเร็วที่สูงขึ้น ลองฟังเสียงในห้องโดยสารและเปรียบเทียบกับเวลาที่รถติดเครื่องแต่จอดนิ่ง เพื่อเช็คว่าเสียงเครื่องยนต์ขณะที่รถวิ่งอยู่เข้ามาในห้องโดยสารหรือไม่ รวมถึงเช็คเสียงลมที่ปะทะกับตัวรถว่าเข้ามาในห้องโดยสารมากเกินไปหรือไม่
– หากสามารถขับด้วยความเร็วในระยะทางยาวได้ ลองไล่ความเร็วจากระดับต่ำไปสูงโดยใช้สไตล์การขับแบบปกติ แล้วลองดูว่าเกียร์หน่วงหรือไม่ เกียร์ที่ดีควรจะส่งให้อัตราเร่งเป็นไปได้อย่างใจโดยไม่กระชาก
เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบาย
นอกเหนือจากสมรรถนะการขับขี่ที่จะมอบความมั่นใจให้แก่ผู้ขับขี่ ปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ต่างนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อช่วยเหลือผู้ขับขี่ให้มีความปลอดภัยและความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อรถ อาทิ
– ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ เมื่อกดปุ่ม ระบบจะควบคุมความเร็วตามที่คุณกำหนด และจะรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าให้อัตโนมัติ โดยระบบจะช่วยเบรกและเร่งความเร็วให้ตามระยะห่างจากรถคันหน้าโดยที่คุณไม่ต้องคอยเหยียบเบรกและคันเร่ง หรือปิด-เปิดระบบควบคุมความเร็วใหม่
– ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง ในเหตุการณ์ที่รถของคุณเบี่ยงออกจากเลนโดยไม่ตั้งใจและไม่ได้เปิดไฟเลี้ยวระบบจะช่วยหักพวงมาลัยเล็กน้อยเพื่อช่วยให้รถคุณกลับเข้ามาในเลน หากทิศทางของรถยังคงเบี่ยงออกเลน ระบบจะเตือน โดยการสั่นที่พวงมาลัย
– ระบบเตือนการชนด้านหน้า กล้องเรดาร์หน้ารถจะคอยตรวจจับระยะห่างระหว่างรถคันหน้า หากระบบพบความเสี่ยงที่จะเกิดการชน ไฟเตือนจะขึ้นบนกระจกหน้ารถคุณ และถ้ารถเคลื่อนไปในระยะกระชั้นชิดกว่านั้นไฟจะกระพริบ พร้อมมีเสียงเตือน โดยระบบจะเพิ่มแรงดันน้ำมันเบรกให้พร้อม เพื่อให้รถหยุดได้เร็วขึ้นเมื่อคุณแตะเบรก
– ระบบแจ้งเตือนการขับขี่ ระบบจะคอยสังเกตพฤติกรรมในการขับขี่ของคุณอยู่ตลอดเวลา โดยใช้กล้องหน้ารถในการตรวจจับลักษณะการวิ่งของรถบนเส้นถนน ถ้ารถเริ่มส่ายไปมาผิดปกติ ระบบจะประเมินถึงความจำเป็นที่ผู้ขับขี่ต้องหยุดพักและจะมีสัญญาณเตือนขึ้นบนหน้าจอแสดงผล
– ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ ระบบจะทำการตรวจจับแสงไฟด้านหน้ารถ เมื่อมืดสนิทระบบจะทำการเปิดไฟสูงอัตโนมัติ และเมื่อตรวจจับพบแสงไฟของรถที่สวนมา ระบบจะปิดไฟสูงให้ทันที
– ระบบตรวจจับรถขณะออกจากซองจอด จะช่วยเตือนหากมีรถวิ่งตัดผ่านด้านหลังในขณะที่คุณกำลังถอยรถออกจากช่องจอด
– ระบบช่วยเบรกที่ความเร็วต่ำ เซ็นเซอร์ที่ติดอยู่บริเวณกระจกหน้ารถทำการตรวจจับ หากรถเข้าใกล้รถคันหน้าเร็วเกินไป ระบบจะเตรียมควบคุมเบรก หากผู้ขับขี่ไม่สามารถควบคุมรถได้ทันท่วงที ระบบจะลดแรงบิดของเครื่องยนต์และเบรกอัตโนมัติ เพื่อป้องกันหรือลดแรงปะทะจากการชน
– ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ ระบบจะช่วยหาช่องจอดที่เหมาะสม และถอยรถเข้าจอดอัตโนมัติโดยคุณเพียงแค่ควบคุมเกียร์และเบรกเท่านั้น
– ระบบการสั่งงานด้วยเสียง ระบบจะพร้อมรับฟังคำสั่งจากคุณ ไม่ว่าจะเอ่ยชื่อเพื่อสั่งโทรออก หรือเล่นเพลงที่คุณชอบ โดยไม่ต้องละมือจากพวงมาลัย หรือละสายตาจากท้องถนน เป็นประโยชน์เพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับคู่มือแนะนำในทดลองขับ เพื่อเลือกรถคันโปรดที่ตอบโจทย์การใช้งานคุณที่สุด หากเพื่อนๆ สนใจรถที่มีสมรรถนะการขับขี่ที่ดีเยี่ยม ระบบเทคโนโลยีความปลอดภัยเป็นเลิศ แล้วล่ะก็ อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมพร้อมทดลองรถที่โชว์รูม Ford ใกล้บ้านกันนะครับ
รถไฟฟ้าที่น่าสนใจ...
i like good car not much money