รีวิว Honda City e:HEV & Hatchback 1.0 RS ดีกันคนละแบบ แตกต่างชัดเจนในคาแร็คเตอร์
“ไม่อยากจะเลือกใคร อยากซื้อเธอไว้ใช้ทั้งสองคัน” นี่คือเพลงเดียวในหัวที่นึกได้ตลอดทางหลังจากที่ได้ลองขับ Honda City e:HEV และ Honda City Hatchback
ถึงแม้ว่ารถทั้ง 2 รุ่นนี้จะใช้นามสกุล The City Series เหมือนกันก็ตาม แต่ทว่าในคาแร็คเตอร์ของทั้ง 2 รุ่นนั้นกลับแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งต้องบอกว่ามีดีมีเด่นในตัวเองด้วยกันทั้งคู่ แต่รุ่นไหนจะคือคำตอบที่ใช่สำหรับคุณ เดี๊ยวผมจะเล่าให้ฟัง แล้วให้คุณเป็นคนเลือกเอง
เดิมทีการทดสอบครั้งนี้เราต้องบินไปขับ Honda City e:HEV และ Honda City Hatchback กันที่ จ.เชียงราย แต่ทว่าด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่กลับมาทำพิษอีกครั้ง
ทำให้ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปลี่ยนเส้นทางทดสอบมาเป็น กรุงเทพฯ – เขาใหญ่ (ไป-กลับ) ที่มีระยะทางรวมกว่า 400 กม. ให้ได้พิสูจน์สมรรถนะกันอย่างสาสมใจ
สำหรับบทความนี้ ผมจะขอเล่าให้ฟังถึงประเด็นสำคัญ และสมรรถนะการขับขี่ของทั้ง 2 รุ่นเท่านั้น ส่วนสเปค และรายละเอียดข้อมูลของตัวรถ เรามีบทความทำแยกไว้ให้แล้ว สำหรับใครที่อยากทราบข้อมูลสเปคเบื้องต้น สามารถติดตามที่ลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลย
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มกันที่ Honda City Hatchback กันก่อนเลย เพราะเป็นรุ่นแรกที่ถูกจัดให้ได้ขับก่อน โดยการทดสอบครั้งนี้ ทาง Honda จัดรุ่นย่อยเกรด RS มาให้ได้ลองขับทั้งหมด
รูปลักษณ์ และรายละเอียดภายนอกเกือบทั้งหมดนั้น ก็เป็นการยกมาจาก Honda City ตัวถัง Sedan รวมไปถึงชุดแต่ง RS ที่ยกมาทั้งหมดด้วย
แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือดีไซน์ด้านท้ายรถที่เปลี่ยนสไตล์มาเป็นแบบ 5 ประตู Hatchback ทำให้มีมิติตัวถังที่สั้นลงกว่า 204 มม. แต่มีความสูงเพิ่มขึ้น 21 มม.
ส่วนระยะฐานล้อ และความกว้างของตัวถังนั้นเท่ากันเป๊ะๆ น้ำหนักตัวถังมากกว่ารุ่น Sedan 48 กก.
อีกหนึ่งส่วนที่แตกต่างออกไปจากโฉม Sedan 4 ประตู ก็คือ Diffuser ท้ายที่ออกแบบใหม่ ทำให้ตัวรถดูโดดเด่น และสปอร์ตมากยิ่งขึ้น
ส่วนภายในห้องโดยสารก็มีการปรับเพิ่มลุคสปอร์ตเข้าไปด้วย เบาะนั่งแบบหนังกลับผสมหนังสังเคราะห์ที่เสริมเส้นสายสีแดงบ่งบอกความสปอร์ต รวมไปถึงแป้นคันเร่ง และแป้นเบรกแบบใหม่เข้าไป
นอกนั้นโดยรวมก็ยกมาจาก Honda City Sedan ทั้งหมด ไม่แตกต่าง
โดยไฮไลท์ทั้งหมดของ Honda City Hatchback จะอยู่ที่ภายในห้องโดยสารตอนหลัง เพราะเป็นจุดที่บ่งบอกความแตกต่างของตัวรถได้อย่างชัดเจนที่สุด แน่นอนว่าในตัวถัง 5 ประตูนี้ จะได้เปรียบในเรื่องของความอเนกประสงค์ และความกว้างขวางของพื้นที่ภายในตอนหลัง
รวมไปถึงรูปแบบการปรับพับเบาะที่ทำได้ถึง 4 รูปแบบ ที่ช่วยเพิ่มไลฟ์สไตล์ในการเดินทางที่มากกว่า โดยทาง Honda ให้นิยามว่า เบาะนั่งอัลตราซีท (ULTR) อันได้แก่
ซึ่งเบาะนั่งอัลตราซีท (ULTR)นี้ ถือเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้ Honda City Hatchback โดดเด่นกว่าคู่แข่งในตลาด
ส่วนขุมพลังตัวนี้เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะคือเครื่องยนต์ 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว ขนาด 1.0 ลิตร VTEC Turbo ที่ยกมาจากโฉม Sedan
โดยให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้าที่ 5,500 รอบ/นาที และมีแรงบิดสูงสุด 173 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 – 4,500 รอบ/นาที
ส่งกำลังด้วยเกียร์ CVT พร้อมมีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift แบบ 7 สปีดที่พวงมาลัย (เฉพาะรุ่น RS) ประหยัดน้ำมันสูงสุด 23.3 กม./ลิตร
เอาละเมื่อทำความรู้จัก และรู้ถึงความแตกต่างของ Honda City Hatchback กันแล้ว ก็มาว่ากันในเรื่องของสมรรถนะการขับขี่ และการใช้งานจริงกันบ้าง
โดยช่วงแรกของการเดินทาง ผู้เขียนขอตัวมานั่งที่เบาะหลังก่อนเลย เพื่อดูว่าเดินทางไกลๆ นั่งสบายขนาดไหน ซึ่ง Honda City Hatchback ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เบาะหลังนั่งสบาย พื้นที่กว้างขวางเหลือเฟือ จะขนของหรือขนคนก็ไม่อึดอัด (ยกให้เป็นห้องโดยสารตอนหลังที่กว้างที่สุดในกลุ่มนี้)
แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุง และรู้สึกไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ ก็คือในเรื่องของเสียงรบกวน ซึ่งเดิมที่นั่งด้านหน้าไม่ค่อยได้ยิน แต่พอเปลี่ยนมานั่งหลังตรงนี้ชัดเจนมาก ซึ่งก็ได้รับคำวิจารณ์จากพี่ๆ นักข่าวท่านอื่นเหมือนกัน (ไม่ได้คิดไปเองคนเดียว)
อีกหนึ่งจุดที่รู้สึกและสัมผัสได้เลยก็คือ ช่วงล่างด้านหลังจะมีความเฟิร์ม และแข็งกว่าด้านหน้า ซึ่งตอนแรกยังไม่แน่ใจ จนได้รับคำยืนยันจาก Honda ช่วง Q&A
ว่าระบบช่วงล่างด้านหลังของ Honda City Hatchback นั้น มีการปรับจูนใหม่ เพื่อให้สมรรถนะการขับขี่ที่สปอร์ต และขับสนุกกว่า City Sedan ซึ่งจุดนี้ Honda ไม่ได้โม้เพราะหลังจากที่เปลี่ยนไปขับเองแล้วมันใช่เลย
เปลี่ยนมือมาเป็นผู้ขับเองในช่วงขึ้นเขาใหญ่พอดี แน่นอนว่าช่วงนี้เป็นการพิสูจน์สมรรถนะของรถ City Car พิกัดนี้ได้ดีเลยทีเดียว วัดกันไปเลยโค้งเยอะๆ ทางขึ้น-ลงเขา มันจะไหวไหม
ซึ่งในเรื่องของอัตราเร่งจุดนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไร พิษสงของเครื่อง 1.0 VTEC Turbo เราต่างก็รู้กันดีว่ามันแรงเกินตัวขนาดไหน ถึงขนาดความเร็วสูงสุดตีไป 210 กม./ชม. ก็สัมผัสมาแล้ว เรื่องนี้จึงไม่น่าเป็นกังวล
ส่วนอัตราประหยัดน้ำมันที่ทำได้จากระยะทางจากกรุงเทพฯ – เขาใหญ่ 200 กม. อยู่ที่ 17.5 กม./ลิตร
แต่สิ่งที่สัมผัสได้ว่าแตกต่างเลยก็คือความคล่องตัวในการขับขี่ พอเปลี่ยนมาเป็นตัวถังแบบ Hatchback ปุ๊บ เหมือนท้ายรถมันสั้น จะมุดจะแทรก จะแซงก็ทำได้ถนัดมือไปเสียหมด
บวกกับช่วงล่างด้านหลังที่เซ็ทใหม่ให้แข็งขึ้น เฟิร์มขึ้น สปอร์ตขึ้น ก็ยิ่งที่ให้ขับสนุกมายิ่งขึ้น สาดโค้งเข้าไปแรงๆ ไม่ย้วย ไม่ดิ้น ไม่โยนเลยแม้แต่น้อย ซึ่งจุดนี้น่าจะถูกอกถูกใจวัยรุ่นชาวไทยเป็นอย่างมากเพราะผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
สำหรับใครที่ชอบฟิลลิ่งหรือรถทรง EK9 / Civic EG (3 ประตู) บอกเลยว่า Honda City Hatchback นี้ใกล้เคียงกับจุดนั้นมากที่สุด เป็นรถที่ให้ความสปอร์ต ขับสนุก ช่วงล่างไว้ใจได้ ท้ายสั้น มุดมันส์ แถมยังได้ความอเนกประสงค์กว่ารุ่นอื่นๆ ในตลาดอีกด้วย
เอาละนี่เพียงคันแรกที่ขับไปเท่านั้น อย่าพึ่งรีบตัดสินใจ เดี๊ยวไปดูคันขับกลับ Honda City e:HEV กันบ้างว่าคันนี้มีรายละเอียด และจุดเด่นอะไรที่น่าสนใจ ค่อยมาว่ากันอีกที
ขากลับ เขาใหญ่ – กรุงเทพฯ มีระยะทางให้ได้สัมผัส Honda City e:HEV อีก 200 กม.
ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงจุดเด่น และรายละเอียดสำคัญของตัวรถก่อน ซึ่งภายนอกขอข้ามไปเลยละกันเพราะมันก็คือ Honda City Sedan เกรด RS ที่มีการเพิ่มโลโก้ H สีฟ้าหน้า-หลัง และเพลท e:HEV บ่งบอกความเป็นรุ่น Hybrid ก็เท่านั้นแหละ อย่าไปคิดเยอะ
อ้อลืมไป กระจกมองข้างฝั่งซ้ายยังมีกล้องมองภาพ Honda LaneWatch เพิ่มเข้ามาให้ด้วย ซึ่งก็เป็นเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นพี่ Accord และ Civic นั่นเอง
แต่ภายในนั้นขอพูดหน่อย เพราะมีของใหม่เพิ่มเข้ามาให้พอสมควร พื้นที่ภายในห้องโดยสารโดยรวมเท่ากับโฉม Sedan ไม่แตกต่าง แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ
กุญแจรีโมทพร้อมระบบสตาร์ทเครื่องยนต์ (Remote Engine Start) ที่สามารถสั่งการให้สตาร์ทและเปิดแอร์ก่อนขึ้นรถได้ เหมือนใน Honda Civic
รวมไปถึงหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ TFT ขนาด 7 นิ้ว ที่มีการบอกรายละเอียดการทำงานของระบบ Sport Hybrid i-MMD และการสั่งการเทคโนโลยีความปลอดภัย Honda SENSING ไว้อย่างครบครัน
อีกทั้งยังได้มาซึ่งระบบเบรกมือไฟฟ้า และปุ่ม Auto Hold ที่มีใน Honda City e:HEV เท่านั้น ปิดท้ายด้วยความสะดวกสบายขั้นสุดกับระบบปรับอากาศสำหรับห้องโดยสารตอนหลังที่คอนโซลกลาง
จุดเด่นของ Honda City e:HEV ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ การมาของระบบ Full Hybrid ครั้งแรกในรถ City Car ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยกมาจาก Honda Accord Hybrid ทั้งระบบ
โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร Atkinson Cycle DOHC i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว กับ มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่ให้สมรรถนะการขับขี่รวมกันสูงสุด 126 แรงม้า และมีแรงบิดสูงถึง 253 นิวตัน-เมตร ที่ 0 – 3,000 รอบ/นาที (ซึ่งเป็นแรงบิดที่สูงที่สุดในกลุ่มนี้)
ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่องไฟฟ้า E-CVT จัดเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน
ให้อัตราประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุด 27.8 กม./ลิตร และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 85 กรัม/กม. รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุด E20
ส่วนอีกหนึ่งไฮไลท์ก็คือ เทคโนโลยี Honda SENSING ที่เพิ่มเข้ามาเป็นครั้งแรกเหมือนกันในรถ City Car จาก Honda อันได้แก่
เอาละเมื่อรู้รายละเอียดทั้งหมดแล้ว ก็มาว่ากันที่สมรรถนะการขับขี่ของ Honda City e:HEV กันเลย
โดยช่วงแรกของการเดินทาง ผู้เขียนขอเป็นผู้โดยสารตอนหน้าคอยดูทางให้ก่อน ซึ่งเป็นช่วงลงเขาและมีทางคดเคี้ยวให้เลี้ยวเยอะ ทำให้สัมผัสได้ว่าระบบช่วงล่างของ Honda City e:HEV นั้นแตกต่างกับ Honda City Hatchback ที่ขับขึ้นเขาเองเมื่อวานอย่างสิ้นเชิง
โดยในรุ่น e:HEV นั้น ช่วงล่างจะให้ความนุ่มนวล นั่งสบายกว่า ออกแนวแน่นๆ คล้ายกับช่วงล่างที่เคยได้สัมผัสใน Honda Accord แต่ตัวรถมีขนาดเล็กลงมาก็เท่านั้น ซึ่งจุดนี้ปิ๊งได้ทันทีเลยว่ากลุ่มลูกค้าของ e:HEV นี้ ต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย ที่เน้นความสบาย นุ่มนวล ไม่มุดแหลก ซึ่งช่วง Q&A ก็ได้รับคำตอบมาว่า ช่วงล่างของ Honda City Sedan และ Honda City e:HEV นั้น ถูกเซ็ทมาภายใต้พื้นฐานคำว่า “Comfort” ชัดเจนนะ
ผ่านมาครึ่งทาง เปลี่ยนมาเป็นผู้ขับเองบ้าง คราวนี้ไม่รอช้ารีบหวดเพื่อดูอัตราเร่งกันก่อนเลย แล้วก็รู้ได้ทันทีว่าช่วงต้นของการออกตัวไปจนถึงช่วงกลาง Honda City e:HEV ทำได้ดีกว่าเครื่อง 1.0 VTEC Turbo
แต่ถ้าความเร็วตั้งแต่ 100 กม./ชม. ขึ้นไปแล้ว เครื่องยนต์ 1.0 VTEC Turbo จะทำได้ดีกว่าชัดเจน
ซึ่งเครื่องยนต์ Hybrid ชุดนี้ทำความเร็วสูงสุดได้เพียง 174 กม./ชม. เท่านั้น แต่นั่นก็เกินพอสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของคุณแล้ว
และถ้าดูจากหน้าจอแสดงผล ก็จะทราบได้ว่าในช่วงใช้คันเร่ง หรือจังหวะเร่งแซงต่างๆ นั้น จะเป็นการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ หาได้มีเครื่องยนต์มาเกี่ยวข้องด้วยไม่เลย เพราะเครื่องยนต์หน้าที่หลักคือปั่นไฟ
ใช่ครับคุณฟังไม่ผิด เครื่องยนต์ใช้เป็นตัวปั่นกระแสไฟเข้าแบตเตอรี่ แต่เมื่อใดก็ตามที่รถลอยตัว หรือขับด้วยความเร็วคงที่แล้ว เครื่องยนต์จะพักงานหลักหันมารับงานเสริมก็คือส่งกำลังไปสู่ล้อแทนหรือทำงานควบคู่ไปกับมอเตอร์ไฟฟ้า (แล้วแต่สถานการณ์)
ซึ่งหลักการนี้เองทำให้ Honda City e:HEV ทำอัตราประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดี เพราะในช่วงเร่งแซง หรือกดคันเร่ง เครื่องยนต์ไม่ได้มีการทำงาน หรือใช้รอบเครื่องยนต์ช่วยส่งกำลังแต่อย่างใด ทำให้อัตราการซดน้ำมันไม่มีผล เครื่องยนต์จะทำงานส่งกำลังไปสู่ล้อก็ต่อเมื่อรถใช้ความเร็วลอยตัว หรือความเร็วคงที่เท่านั้น
หรือคิดตามแบบบ้านๆ ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเครื่องยนต์อะไร ก็พอจะเข้าใจได้ว่ามันต้องกินน้ำมันน้อยกว่าการใช้เครื่องยนต์ตอนเร่งแซงอย่างแน่นอน และนั่นจึงทำให้ตัวเลขอัตราประหยัดน้ำมันแบบ AVG ของทริปนี้ผมทำได้ที่ 26.4 กม./ลิตร (บอกเลยว่าโคตรประหยัด)
อีกหนึ่งจุดที่ตอนแรกก็งงๆ มันใช้งานยังไง คืออะไรกันแน่ก็คือ แป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ซึ่งมีให้เหมือนกันใน Honda City e:HEV แต่ไม่ใช้เป็นการเปลี่ยนเกียร์อย่างที่เข้าใจ หากแต่เป็นแป้นที่มีไว้เพื่อหน่วงกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า
โดยจะมีประโยชน์ในทางลงเขาหรือทางลาดชัด ซึ่งอารมณ์มันคล้ายๆ กับ Engine Brake นั่นเอง มีความหน่วงให้ใช้งาน 3 ระดับ ซึ่งแต่ละความหน่วงนั้นก็จะแปรผันกลับไปเป็นพลังงานจัดเก็บที่แบตเตอรี่อีกทีหนึ่งด้วย
ส่วนระบบความปลอดภัย Honda SENSING จุดนี้ไม่ได้ลองเล่นมาก เพราะมัวแต่โฟกัสไปที่การทำงานของระบบ Sport Hybrid i-MMD แต่บางจังหวะที่เป๋ๆ ออกนอกเลนโดยไม่ตั้งใจ ตัวรถก็จะแจ้งเตือน พร้อมส่งสัญญาณและหน่วงพวงมาลัยกลับมาในเลนให้เอง เลยรู้ว่ามันก็ยังคอยทำงานช่วยเหลือให้อยู่นะ
โดยเป็นการใช้กล้องมองภาพมุมกว้างหลังกระจกหน้าเป็นตัวสั่งการ (ไม่มีเซ็นเซอร์ และเรดาร์) ซึ่งจุดนี้ก็ไม่สามารถรู้ได้หากวันใดกล้องจับภาพได้ไม่ชัด หรือสถานการณ์ฝนตกหนักทัศนวิสัยไม่ดี จะทำงานได้ดีอยู่หรือเปล่า (แต่ทั้งนี้การขับรถก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความไม่ประมาทอยู่แล้ว) ต่อให้มีระบบดี แต่ขับประมาทอุบัติเหตุก็ใช่ว่าจะไม่เกิด จริงไหม?
บทสรุป
และทั้งหมดนี้ก็คือรายละเอียดของ Honda City Hatchback และ Honda City e:HEV ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ซึ่งต้องบอกว่าทั้ง 2 รุ่นต่างก็มีจุดเด่น และคาแร็คเตอร์ของตัวเองที่ชัดเจน โดยหากใครที่ชื่นชอบความสปอร์ต การขับขี่ที่สนุก รวมไปถึงความอเนกประสงค์ในการจัดเก็บสัมภาระยังไงซะตัวถัง Hatchback ก็ต้องตอบโจทย์กว่าอยู่แล้ว
ราคาจำหน่าย Honda City Hatchback
หากแต่คุณต้องการความครบครัน อ็อพชั่นที่จัดเต็มที่สุด รวมไปถึงขุมพลัง Full Hybrid ที่เหมือนกันยก Honda Accord Hybrid มาอยู่ในร่าง City Car แถมยังได้มาซึ่ง แอร์หลัง เบรกมือไฟฟ้า Honda LaneWatch ระบบความปลอดภัย Honda SENSING ภายใต้สมรรถนะการขับขี่ที่ประหยัด และนั่งสบาย Honda City e:HEV คือคำตอบของคุณอย่างแน่นอน
ราคาจำหน่าย Honda City e:HEV
ค่าตัว 8.39 แสนบาท อาจเป็นตัวเลขที่ฟังดูน่าตกใจ แต่ในระยะยาวหากนำไปหักลบกับค่าน้ำมันแล้ว มันอาจจะเป็นตัวเลขที่คุ้มค่ากว่าก็ได้นะใครจะไปรู้!!
บทความน่าอ่าน!!
สัมผัสแรกก่อนเปิดตัว All-New Mazda BT-50 บอกเลยว่ารถกระบะคันนี้คุ้มค่าแก่การรอคอย
รีวิว New Ford Ranger 2020 สัมผัสนิยามใหม่และตัวตนของ Ranger กระบะพันธุ์แกร่งที่ไปได้มากกว่า
รีวิว Ford Mustang รุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 55 ปี ดุดัน ทรงพลัง สปอร์ตเร้าใจยิ่งกว่าเดิม
รีวิว 2021 Nissan Navara ใหม่ แกร่งขึ้นเยอะ ลุยได้มั่นใจ ระบบความปลอดภัยจัดเต็ม
รีวิว All-New Isuzu Mu-X 2021 สัมผัสแรกก่อนขายจริง เปลี่ยนใหม่ครั้งนี้บอกเลยคุ้มค่าแก่การรอคอย
รีวิว Toyota Corolla Cross รถอเนกประสงค์สำหรับครอบครัวยุคใหม่ ที่มาพร้อมความสะดวกสบาย และความประหยัด
รีวิว Honda City 1.0 VTEC Turbo รุ่นท็อปสุด RS มีดีแค่ไหน? ถึงกล้าขาย 739,000.
รถไฟฟ้าที่น่าสนใจ...
รถยอดนิยม
Mazda 2 ราคาเริ่มต้น 546,000.
Mazda 3 ราคาเริ่มต้น 969,000.
Mazda CX-3 ราคาเริ่มต้น 769,000.
Nissan Almera ราคาเริ่มต้น 499,000.
Nissan Kicks ราคาเริ่มต้น 889,000.
Nissan Navara ราคาเริ่มต้น 599,000.
Honda City ราคาเริ่ม 579,500.
Honda City Hatchback ราคาเริ่ม 599,000.
Honda City e:HEV ราคา 839,000.
Honda Civic ราคาเริ่ม 874,000.
Mitsubishi Triton ราคาเริ่มต้น 539,000.
Mitsubishi Xpander ราคาเริ่มต้น 789,000.
Mitsubishi Pajero Sport ราคาเริ่มต้น 1,299,000.
Toyota Revo ราคาเริ่มต้น 544,000.
Toyota Yaris ATIV 4 ประตู ราคาเริ่มต้น 529,000.
Toyota Yaris 5 ประตู ราคาเริ่มต้น 539,000.
Toyota Corolla Cross ราคาเริ่มต้น 989,000.
Toyota Fortuner ราคาเริ่มต้น 1,319,000.
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " รีวิว Honda City e:HEV & Hatchback 1.0 RS ดีกันคนละแบบ แตกต่างชัดเจนในคาแร็คเตอร์ "