
รีวิว Honda 650f Series (CBR650F, CB650F) 2 คู่หู 4 สูบในราคาไม่เกิน 3 แสน
กระแสของรถ Bigbike ในปีนี้นั้น ถือได้ว่าโตสวนกับเศรษฐกิจ และภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งหมดหลายคนที่เคยเล่นรถมา มักจะมองว่า Entry Bike เริ่มไม่พอมือเสียแล้ว ต้องเล่น Middle Weight ไปเลยทีเดียวจบ จึงทำให้รถในระดับ Mid Sized นั้นเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก
และเมื่อปลายปี 2013 ที่งาน Motor Expo ค่ายปีกนก Honda ได้เปิดตัวรถ 4 สูบ ประกอบไทย 2 คันแรกของค่าย CBR650f, CB650f โดยทั้ง 2 คันนี้ เข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่ ให้แก่ รถ Bigbike ไซส์กลาง ด้วยออปชั่นที่น่าสนใจ กับราคา 2.85 แสน (CB650f) และ 3 แสนบาท (CBR650f) จนกวาดยอดขายได้เป็นอย่างมากในช่วงหลังนี้ ซึ่ง 9carthai เราขอมานำเสนอ รีวิว Honda 650 Series ทั้ง CBR650f, CB650f กันครับ
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม CBR650f ถึงใช้ตัว f ห้อยท้าย ทั้งที่น้องๆในตระกูลคันอื่น ลงท้ายด้วย R
สำหรับตัว f ทาง Honda หมายถึง Street Fighter ซึ่งในบ้านเรา จะพบกับรหัสนี้ในครั้งแรก (รถผลิตและจำหน่ายในไทย) กับรุ่น CB500f ตามด้วย CBR650f, CB650f และ CB300f แต่ที่น่าแปลกใจ เพราะ CBR650 กลับใช้รหสั f ต่อท้าย ซึ่งได้ใช้เบาะแบบตอนเดียว ซึ่งต่างจากน้องๆตระกูล R ทั้ง 150, 250, 300, 500 ที่เป็นเบาะแยก 2 ชั้น ซึ่งถือเป็นตระกูล CBR รุ่นเดียวที่จำหน่ายในไทย ที่ใช้เบาะแบบ Touring
Honda CBR650f และ CB650f ใช้ไฟหน้าแบบ Multi Reflector รูปทรง V Shape พร้อมไฟหรี่ LED ดูดีสวยงาม,
ในส่วนช่วงท้าย จะเหมือนกัน ไฟท้ายหยิบยกมาจาก MSX ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับรถปี 2016 ของตระกูล 750 ทั้งหลายที่จะมาใช้ไฟท้ายตัวนี้เช่นเดียวกัน
จุดแตกต่างกัน อยู่ที่ แฟริ่งในรูปแบบสปอร์ต และ Naked โดย CBR650f จะเป็นชิ้นเดียวกันตั้งแต่ไฟหน้า มาบรรจบลงที่อกล่าง และถังน้ำมัน ขณะที่ CB650f จะแยกชิ้นส่วนกันชัดเจน ทำให้เราเห็นมุมเหลี่ยมคมของปีกข้างแฟริ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสีเหลือง เช่นคันนี้ ให้ความรู้สึกดูคล้ายกับเจ้า Bubble Bee ใน Transformer เสียจริง
มาตรวัด ทั้ง 2 คันใช้หน้าจอดิจิตัลแบบ LCD แสดงผลความเร็วเป็นตัวเลข รอบเครื่องยนต์แสดงผลเป็นสเกลทางด้านบน ส่วนด้านขวา เป็นนาฬิกา, เกจ์น้ำมัน พร้อมแสดงอัตราสิ้นเปลือง และ Set Trip A, B ได้
กุญแจนิรภัยแบบ HISS และ Wave Key ฝังชิป
มิติตัวรถ มีความยาวxกว้างxสูง CBR650f = 2,107 x 753 x 1,149 มม., CB650f = 2,110 x 775 x 1,120 มม.
มีความสูงเบาะอยู่ที่ 810 มม. มีน้ำหนักตัว Curb Weight ที่ 211/206 กก. (CBR650f/CB650f) ถังน้ำมันมีความจุ 17.3 ลิตร
ในด้านของท่านั่ง
CBR650f จะให้ความเป็นสปอร์ต มากกว่า Series R อย่าง CBR150R, 250R, 300R, 500R เพราะแฮนด์จับโช้คที่เตี้ย ช่วยให้ผู้ขี่ต้องก้มลงมากกว่าเดิม แต่ทว่าก็ไม่เมื่อยเท่ากับตัว Supersport อย่าง RR จริงๆ
เอาเป็นว่า ขี่ออกทริปด้วย CBR650f ไม่เมื่อยหลังมากนัก ขี่ได้ชิลๆ ด้วยวินชิลด์ที่ติดตั้งมาให้ ช่วยลดลมปะทะไปได้มาก
ขณะที่ CB650f ตำแหน่งแฮนด์ดูจะสูงไปสักนิด แม้แฮนด์จะไม่กว้างมาก ทำให้การเดินทาง จะรู้สึกเมื่อยช่วงบ่ามากกว่าเนื่องจากต้องยกแขนขึ้นสูง และที่ปีกแฟริ่งข้าง เราพบว่ามุมเหลี่ยมคมนั้นดูจะทิ่มโดนหัวเข่าในบางจังหวะที่แตะเบรกหลัง
เครื่องยนต์ 4 สูบเรียง ความจุ 648.7cc DOHC 16 วาล์ว หัวฉีด PGM-FI ระบายความร้อนด้วยน้ำ มีกำลัง 87 แรงม้า@ 11,000rpm และแรงบิด 63Nm @8,000rpm ส่งกำลังด้วยเกียร์แบบคลัชมือ 6 Speed ซึ่งอัตราทดเกียร์ชุดนี้จะไม่มีเกียร์ Overdrive (OD) ซึ่งทำให้การขับขี่สนุกสนานเร้าใจในทุกเกียร์ (ย่านกลาง-รอบสูง)
การขับขี่จริง ในการใช้งานด้วยเครื่องยนต์พิกัด 650cc แต่รูปแบบสไตล์รถ 4 สูบ จะพบว่าช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำ หรือในช่วงออกตัวรอบเครื่องก่อน 2,000rpm รถยังดูไม่ค่อยมีกำลังนัก อัตราเร่งช่วงต้นยังไม่หวือหวา ซึ่งอาจไม่ถูกใจหลายคนที่ขี่รถ Middle Weight 2 สูบ หรือ 4 สูบ พิกัดในพิกัดระดับ 800cc ขึ้นไป
แต่จุดเด่นของทั้ง 2 คันนี้ อยู่ที่ความสมูทของคันเร่ง ควบคุมง่าย สไตล์เครื่องยนต์ที่ขี่ง่าย อยากแรงหนักๆ ก็เปิดคันเร่งแรงเพิ่ม นอกจากนี้ในด้านของพละกำลัง Honda 650f ให้กำลังแบบมาเรื่อยๆ แต่แรงช่วงกลางยันปลาย ซึ่งมอบความสนุกทุกครั้งที่ขี่เดินทางไกล ที่ความเร็วในระดับ 120 กม./ชม. ขึ้นไป ซึ่งจะพบกับความสนุกในการขี่ช่วงที่ความเร็วสูง ทั้งซุ่มเสียง และพละกำลังที่มีมากกว่า สไตล์เครื่องบล๊อก 2 สูบ และนอกจากนี้ Engine Brake ของเครื่องก็นิ่มไม่กระชากเอี๊ยดอ๊าดมากนัก ให้ความนุ่มแบบตามสไตล์คันเร่งเลยก็ว่าได้
เนื่องจากการใช้อัตราทดเกียร์ แบบไม่มี OD ส่งผลให้ อัตราสิ้นเปลืองนั้น ทำได้ที่ระดับ 18-19 กม./ลิตร โดยการขี่ที่ความเร็วเดินทาง ระดับ 120-130 กม./ชม. ซึ่งก็ไม่แปลก ที่ 4 สูบ 650f ทั้ง 2 คันนี้ซดมากกว่า 2 สูบ อยู่เล็กน้อย
ในด้านของความร้อนนั้น ก็ถือว่ามีพอสมควรโดยสัมผัสไอร้อนได้ที่หน้าแข้ง จากแคร้งเครื่องยนต์ที่ยื่นออกมาจากตัวแฟริ่งทำให้สัมผัสกับความร้อนได้ง่าย และอาจต้องระวังขาไปโดนอีกด้วย
ระบบกันสะเทือน ทั้ง 2 รุ่นใช้โช้คอัพหน้า Telescopic ขนาดแกน 41 มม. มีระยะยุบที่ 120 มม. ด้านโช้คอัพเดี่ยว Monoshock โดยมีจุดขายจากสวิงอาร์มอลูมีเนียม ในส่วนของแฮนด์ควบคุมในรุ่น CBR650f นี้เป็นแบบ Separate Bar เช่นเดียวกับ ตระกูล R ตัวอื่นๆ แต่ในรุ่น 650f นี้ ท่านั่งนั้นจะให้ความสปอร์ตมากกว่า ในรุ่นน้องตัวอื่นๆ จากตำแหน่งเบาะ ที่สูง มากขึ้นกว่า รุ่น 300R และ 500R แถมรูปทรงของแฮนด์ในรุ่น 300R และ 500R จะยกสูงขึ้น แต่ในรุ่น 650f นี้ระนาบจะเท่ากันกับช่วงบริเวณแผงคอ ไม่ได้ถูกยกสูงขึ้น จึงทำให้การขับขี่นั้นอาจจะเมื่อยมากกว่าเล็กน้อย
สำหรับช่วงล่างดูจะเซ็ตมาค่อนข้างนิ่ม ผู้ซ้อนก็นั่งได้สบายผ่อนคลาย เหมาะสมกับรถสไตล์ Sport+Touring แม้จะไม่นิ่มขนาดตระกูล 500 แต่ในด้านการยึดเกาะ ก็ทำได้ไม่เป็นรอง ในการขี่อาจจะพบช่วงระยะยุบของโช๊คดูจะยุบลงง่าย เมื่อขี่ผ่านช่วงเนิน มีระยะยุบให้สัมผัสกันบ้างถึงช่วงอาการรีบาวด์ เล็กน้อย ซึ่งดูจะให้อารมณ์ผ่อนคลายมากกว่า รุ่น Sport ในตลาดหลายรุ่นที่ออกแนวแข็งๆ ไม่ค่อยมีช่วงระยะยุบ และ รีบาวด์ของโช๊คอัพให้สัมผัสกันมากนัก
สำหรับในการเข้าโค้ง รวมถึงการออกตัวอย่างรวดเร็วพบว่ารถยังยึดเกาะถนนได้ค่อนข้างดี เนื่องจากเหตุผลที่สำคัญจากไซส์ยาง 180mm ที่กว้างช่วยเพิ่มพื้นที่มากขึ้น จึงช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเข้าโค้ง หรือ การออกตัวด้วยความเร็วได้อย่างดี
ระบบเบรกดิสก์พร้อม ABS หน้า-หลัง ด้านหน้าจานดิสก์คู่ขนาด 320 มม. พร้อมคาลิปเปอร์ 2 ลูกสูบ จาก Nissin และ ด้านหลังจานเดี่ยวขนาด 240 มม. คาลิปเปอร์ 1 ลูกสูบ จาก Nissin โดยรวมการเบรกใช้งานบนถนนชีวิตประจำวันถือว่าทำได้ดี เพียงแค่นิ้วจิกๆ แตะเพื้อเลียเบรก ก็ สามารถชะลอรถลงได้ในระดับหนึ่ง เมื่อขับขี่มาที่ความเร็วปกติ
ดูจะมีอาการจับของจานเบรก ดีกว่ารถในตระกูล อย่าง 500cc ที่จะออกแนวทื่อๆ ด้านๆ ไม่มีชีวิตชีวานัก ซึ่งปั๊มเบรกของ 650f นี้ ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างรวดเร็ว ฉับไว และรู้สึกถึงการจับของผ้าเบรกที่มีหน้าสัมผัสต่อจานได้อย่างมากกว่า แต่หากซัดมาด้วยความเร็วแล้วเกิดต้องจอดสนิท นั้นอาจต้องลงน้ำหนักเบรกให้มากขึ้น เนื่องจากมีแรงฉุดจากน้ำหนักรถ และการทำงานของ ABS อยู่บ้าง ซึ่งอาจต้องเบรกให้ลึกขึ้น หรือทางที่ดี ควรเผื่อระยะเบรกเอาไว้หน่อย
สรุป
Honda CBR650f, CB650f 2 คู่หู 4 สูบ จากค่ายปีกนกยักษ์ แม้รหัสทิ้งท้าย f จะหมายถึงรถ Street Fighter (Street Used) แต่ถ้าให้เลือก มันดูเหมาะแก่ Touring เดินทางออกทริปสนุกๆมากกว่า จากกำลังช่วงปลายที่โดดเด่นกว่าอัตราเร่ง
ขณะที่การใช้งานในเมืองก็ทำได้ไม่เลว CBR650f หากพับกระจกพริ้วไม่แพ้รถเล็กเลยในการเลาะเลนรถติด แต่ CB แม้แฮนด์ไม่กว้างมาก แต่ลำบากนิดจากกระมองข้าง
ในด้านสเป็กทั้ง 2 คันมีจุดแข็งกว่าแบรนด์อื่นในพิกัดเดียวกัน ล้อกว้างยางไซส์ 180 มม., สวิงอาร์มอลูมีเนียม, 4 สูบทรงพลัง การทำราคาในระดับนี้ จึงค่อนข้างได้เปรียบกว่าเพื่อน แต่ในเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองนั่น คือจุดที่ต้องแลก
สำหรับในเรื่องของศูนย์บริการที่คนส่วนใหญ่ชอบเปรียบเทียบนั้น ต้องบอกว่า Honda BigWing ได้มีสาขาเพิ่มเติมใน กทม. เข้ามาอีก 2 สาขา เมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ พระราม 3, พระราม 5 (ราชพฤกษ์) ซึ่งช่วยกระจายพื้นที่ในเรื่องของการดูแลลูกค้า ไม่มากขึ้นไปอีก
จุดเด่น
จุดที่อยากให้มีเพิ่มเติม
ขอขอบคุณ Honda BigWing สำหรับ รีวิว Honda CBR650f, CB650f ในครั้งนี้
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver 9carthai
รถไฟฟ้าที่น่าสนใจ...
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " รีวิว Honda 650f Series (CBR650F, CB650F) 2 คู่หู 4 สูบในราคาไม่เกิน 3 แสน "