รีวิว Honda CBR 250RR SP ดีไหม? มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง!!
New Honda CBR 250RR SP มีราคาเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมอยู่ที่ 269,000 บาท เป็นรถนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียทั้งคัน ได้มีการปรับลวดลายสติ๊กเกอร์และรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของเครื่องยนต์อีกเล็กน้อยทำให้รถมีสรรถนะที่ดีขึ้น เพิ่ม Option ต่าง ๆ เช่น Assist/Slipper clutch, Quick Shifter up and down คุ้มค่าหรือไม่เราไปดูกันครับ
ก่อนจะเริ่มรีวิวขอเล่าก่อนว่า Honda CBR250RR เปิดตัวในไทยครั้งแรกปี 2019 กับราคาประมาณ 249,000 บาท ซึ่งก็มีเสียงวิจารณ์กันเยอะถึงราคาที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับซีซีที่ได้
ในปัจจุบันผู้คนเริ่มเข้าใจถึงประเภทของรถกับราคาและยอมรับกันมากขึ้น แต่ถ้ายังสงสัยอยู่ว่าทำไมรถคันนี้ถึงแพง วันนี้ผมและ 9Carthai จะพาทุกคนไปดูกันครับ
ท่านั่งการขับขี่ – เบาะ
ผู้ขับขี่ที่ไม่เคยชินกับรถแบบสปอร์ตมักกังวลเรื่องความสูงเบาะ แต่จริง ๆ แล้วหากได้ใช้เวลาปรับตัวเข้ากับรถแล้วก็สามารถขี่ได้หมด เพียงแต่ถ้าเบาะสูงก็อาจลำบากเล็กน้อยในการขับขี่บนถนน
สำหรับ Honda CBR250RR SP คันนี้เบาะมีความสูง 790 มม. ผู้ขับขี่ที่มีส่วนสูง 170 ซม. สามารถวางเท้าได้เต็มทั้ง 2 ข้างเหลือที่ให้หย่อนเข่าเล็กน้อย
ดูที่ช่วงขาชัด ๆ สามารถลงส้นเท้าแตะพื้นพร้อมกันได้
ตัวเลข 790 มม. อาจดูค่อนข้างสูง แต่เครื่องยนต์คันนี้เป็นแบบ 2 สูบทำให้ตัวรถไม่กว้างมากและทำให้เบาะแคบไปด้วย จึงไม่ต้องกางขาเยอะและลงขาได้ถนัดมากขึ้น
จากรูปจะเห็นว่าช่วงหน้าของเบาะแคบจริง ๆ
สำหรับเบาะตัวนี้ถือว่ากำลังดีในการใช้งานบนท้องถนน ทั้งความสูงและตัวเบาะที่ออกแบบให้บางแต่ไม่แข็ง อยู่ปานกลางขับขี่นาน ๆ แล้วไม่ปวดก้น โดยเฉพาะหากขยับตัวไปช่วงท้ายเบาะที่มีความกว้างมากขึ้น ก็จะนั่งได้เต็มก้นมากขึ้น
ท่านั่งการขับขี่ – พักเท้า
หากใครเคยขับขี่รถประเภทสปอร์ตทัวร์ริ่ง เช่น Yamaha R3, Ninja400, Honda CBR500R จะพบว่ามีพักที่ไม่สูงมากและวางไว้ตรงกลาง ทำให้การขับขี่ทางไกลสบาย แต่ถ้าเทโค้งแรง ๆ พักเท้าอาจครูดพื้นถนนได้ ซึ่งแตกต่างจาก Honda CBR250RR SP คันนี้ชัดเจน
Honda CBR250RR SP คันนี้ให้ตำแหน่งพักเท้ามาในแบบสปอร์ต คือยกสูงขึ้นและเยื้องไปด้านหลังทำให้เข่างอ พักเท้าแบบนี้ทำให้สามารถเอาเข่าหนีบถังได้ถนัดดีมาก ใช้งานขับขี่บนถนนได้โดยที่ไม่ได้เมื่อยมาก แต่ก็ไม่ได้สบาย
ส่วนตัวผมเวลาขี่เร็วรู้สึกว่า หากขยับตัวไปท้ายเบาะจะทำให้หนีบถังได้ถนัดมากขึ้น
ท่านั่งการขับขี่ – แฮนด์
แฮนด์ที่ให้มาเป็นแบบจับโช้กใต้แผงคอ จึงมีความหมอบมากกว่าสปอร์ตทัวริ่งในคลาสใกล้เคียงกัน แต่ไม่หมอบมากเท่ากับรหัส RR คลาส 600 หรือ 1,000 ทำให้การขับขี่ในชีวิตประจำวันไม่เมื่อยมาก
แม้จะจับอยูใต้แผงคอแต่ก็มีการยกสูงขึ้นมาเล็กน้อย องศาของแฮนด์ไม่ได้งุ้มแคบมากเหมือนซุปเปอร์สปอร์ตคลาส 600 หรือ 1,000 วงเลี้ยวจึงไม่กว้างมาก และมีข้อดีคือเวลาหักแฮนด์สุดข้อมือผู้ขับขี่ก็จะไม่ชนกับถังน้ำมันอีกด้วย เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ความสูงของแฮนด์จะเท่ากับกระจกข้างของรถเก๋งหรือต่ำกว่าเล็กน้อย แต่ก็ยังมุดได้ง่ายเพราะตัวรถและแฮนด์มีความแคบกระทัดรัด มุดทางตรงง่ายกว่า Scooter หลาย ๆ รุ่นด้วยซ้ำ แค่พับกระจกแล้วก็มุดไปได้เลย
ถึงแม้แฮนด์จะยกสูงมานิดหน่อยแต่ภาพรวมยังคงความก้มไว้ พร้อมหมอบทำความเร็ว ดังนั้นหากไม่หนีบถังไว้ให้แน่นจะทำให้ผู้ขับขี่ลงน้ำหนักไปด้านหน้ามากเกินไปจนปวดง่ามมืออย่างแน่นอน
หากฝึกหนีบถังจนชินแล้วอาการปวดง่ามมือก็แทบจะไม่มี แต่ในช่วงรถติดที่ต้องเอาขาลงมายันพื้นบ่อย ๆ จะทำให้รู้สึกปวดมือและเมื่อยคอแน่นอน ใครที่จะเอาไปขับขี่ในที่ที่รถติดหนัก ๆ ไม่แนะนำอย่างยิ่งครับ
โดยรวมแล้ว ท่าการขับขี่ของรถคันนี้มีความเป็นสปอร์ตสายสนามที่ปรับมาให้ใช้ในชีวิตประจำวันได้สบายขึ้น แต่ยังคงความหมอบไว้อยู่
เพื่อที่เวลาเครื่องยนต์แสดงพลังออกมาผู้ขับขี่จะได้ขยับตัวไปท้ายเบาะแล้วหมอบเอาคางวางบนถัง เอาท่อนแขนหนีบใต้แผ่นครอบพลาสติกบนถังได้พอดี เตรียมพร้อมสำหรับความสนุกของรถคันนี้
เบาะคนซ้อน
เป็นเบาะทรงสปอร์ตเน้นความสวยงาม เบาะไม่แข็งมาก แต่ค่อนข้างแคบทำให้นั่งนาน ๆ แล้วเมื่อย ด้านหน้าจะเป็นโหนกเบาะขึ้นมาช่วยป้องกันการไหลไปด้านหน้าได้เล็กน้อย
แต่เพื่อความปลอดภัย เวลานั่งซ้อนควรเอามือยันถังไว้เผื่อการเบรกฉุกเฉินหรือการปิดคันเร่งแรง ๆ
เบาะผู้ซ้อนสามารถเปิดออกได้ ภายในพบกับอุปกรณ์ช่างติดรถ และปกหุ้มเล่มทะเบียน
ปกหุ้มเล่มทะเบียนเป็นหนังเทียมสีน้ำตาล ปั๊มลาย Honda Bigbike ดูพรีเมียมสุด ๆ
รูปลักษณ์ภายนอก
หน้าตาตัวรถโดยรวมยังคงคล้ายรุ่นเดิม มีการปรับสีอุปกรณ์และลวดลายสติกเกอร์เล็กน้อย เรียกว่ายังคงเอกลักษณ์ที่สวยงามแบบเดิมเอาไว้
มองจากมุมท้ายรถมีความเป็นสาย RR ชัดเจนด้วยช่วงหน้าจิกกดต่ำและช่วงท้ายเชิ้ดสูงขึ้น
ไฟหน้ายังคงเอกลักษณ์สไตล์เดิมเป็น Full LED แบบ 2 ชั้น ด้านบนเป็นเส้น DRL ล่างเป็นไฟใหญ่คู่ตรงกลางและมีไฟสูงอยู่มุมสุดทั้ง 2 ข้าง ไฟเลี้ยวหน้าเป็นก้านยื่นออกมาซึ่งเป็นไฟเลี้ยวที่เราจะเห็นได้ตามรถ Scooter ทั่วไปของ Honda
ไฟเลี้ยวหน้าจะติดทั้งคู่ตลอดเวลา เมื่อเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวข้างใด ข้างนั้นก็จะกระพริบ ส่วนอีกข้างยังคงติดค้างไว้เหมือน Honda Forza
ดูกันชัด ๆ ถึงความสปอร์ตของไฟด้านหน้า
ภายใต้ชุดหน้ากากมองผ่านกระบอกโช้คสีทองไปจะพบกับแผงหม้อน้ำด้านใน และด้านข้างมีช่อง Ram Air ที่มีการปรับมาใหม่ให้ดูดอากาศเข้าหม้อกรองอากาศได้ดียิ่งขึ้น
ล้ออลูมิเนียม 7 ก้านสีทอง ดูเด่นกว่ารุ่นเดิมที่เป็นสีดำด้าน
ยางหน้าขนาด 110/70-17 และยางหลังขนาด 140/70-17
โดยยางติดรถที่ให้มาเป็นยาง IRC Road Winner ซึ่งต่างจากรุ่นที่ผลิตในญี่ปุ่นซึ่งจะได้ยาง Dunlop แต่ยาง IRC ตัวนี้ก็ใช้งานบนถนนทั่วไปได้โอเค หากฝนตกพื้นเปียกอาจต้องชะลอความเร็วและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
สังเกตที่ก้านล้อจะเซาะร่องภายในช่วยลดน้ำหนัก มีอักษรนูนเขียนว่า MADE IN INDONESIA
กระจกข้างก้านอลูมิเนียมดูแข็งแรงและดีไซน์สปอร์ตสวยงาม ปรับแล้วหนืดกำลังดี เวลาขี่ทางเรียบไม่สั่น
เมื่อกางกระจกข้างออกสุดจะมีความสูงอยู่ระดับเดียวกับรถเก๋งหรือ Crossover เวลามุดรถติดลำบากมาก
แต่โชคดีที่ Honda ออกแบบให้สามารถพับกระจกได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือลงจากรถ สามารถเอื้อมแล้วออกแรงประมาณนึงเพื่อดึงกระจกเข้ามาได้เลย
ตรงนี้ออกแบบมาให้มีจังหวะล็อคที่แข็งแรงดีไม่ต้องกังวลว่าจะกางออกมาโดยไม่ตั้งใจ เมื่อพับแล้วขณะมุดรถติดก็จะไม่เกะกะอีกต่อไป คอยระวังเพียงแค่ตำแหน่งแฮนด์ก็พอ
ชิวบังลมด้านหน้าแบบใสไม่สูงมาก มองจากด้านข้างจะสูงกว่าถังน้ำมันเล็กน้อยเท่านั้น หากต้องการให้ลมเลยผ่านหัวไปต้องหมอบแบบคางวางติดบนถังกันเลยทีเดียว
ช่วงท้ายมีความแหลมเพรียว พุ่งออกไปทางด้านหลัง
ด้านท้ายมีช่องรีดอากาศ ภายในช่องนี้มีปีกซ่อนอยู่อีกชั้น
ไฟท้ายเป็น Full LED แบบ 2 ชั้นเข้ากันกับไฟหน้า ก้านไฟเลี้ยวทรงเดียวกันกับมอเตอร์ไซต์ของ Honda รุ่นอื่น ๆ
ไฟ 2 ชั้น ด้านบนเป็นไฟท้ายติดตลอดเวลา ด้านล่างเป็นไฟเบรกดวงใหญ่เห็นชัดเจน
จากด้านหลังเห็นปลายท่อไอเสียแบบคู่ออกขวาฝั่งเดียว รูปทรงดุดันเข้ากับตัวรถ นอกจากความสวยงามแล้วยังระบายไอเสียได้ดียิ่งขึ้น
เสียงในรอบต่ำทุ้มดังกำลังดี และเมื่อบิดเกิน 7,000 รอบ/นาที ขึ้นไปจะได้ยินเสียงแผดดังออกมาไพเราะสุด ๆ ใช้แบบเดิมไม่ต้องเปลี่ยนยังได้เลย
มุมทางขวาโดดเด่นด้วยท่อไอเสียขนาดใหญ่ มีแผ่นพลาสติกกันร้อนเจาะลายขีด 3 เส้น
มุมเครื่องยนต์จากฝั่งขวา ภาพมุมนี้เห็นเฟรมของรถชัดเจนซึ่งเป็นเฟรมแบบ Pentagon Truss Frame (โครงเหล็กถัก) ช่วยทำให้มีน้ำหนักเบาแต่ยังคงความแข็งแรงไว้อยู่
บริเวณเฟรมด้านขวามีสติ๊กเกอร์เขียนว่าเป็นรถที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย
พักเท้าด้านขวาสีเงิน พร้อมกับก้านเบรกเท้าสีดำ
สังเกตที่แฟริ่งบริเวณนี้จะมีการเว้าหลบก้านเบรก และที่เบรกจะปาดส่วนปลายเพื่อให้เวลาเทโค้งในสนามจะได้ไม่ไปครูดพื้นให้เสียจังหวะ
มองจากมุมด้านซ้ายก็สวยงามไม่แพ้กัน
มาดูสติ๊กเกอร์ลาย Tri – Color ที่ปรับมาใหม่ บ่งบอกความเป็น Honda
สังเกตให้ดีลายกราฟฟิกจะเป็นชื่อรุ่น CBR250RR พร้อมกับลาย RR ขนาดใหญ่
ทางด้านหน้าสุดลาย SP พร้อมคำว่า Quick Shifter ให้ได้รู้ว่ารุ่นนี้เตะเกียร์ขึ้นได้แบบไม่ต้องกำคลัทช์เลยครับ
เครื่องยนต์จากมุมฝั่งซ้ายมีแฟริ่งอกล่างปิดชุดชามคลัชไว้ครึ่งหนึ่งเห็นสายคลัชได้จากมุมนี้ และต้องบอกไว้ก่อนเลยว่ารุ่นนี้มีระบบ Assist & Slipper Clutch มาให้ด้วย
พักเท้าผู้ขับขี่ฝั่งซ้ายพร้อมเซนเซอร์กันล้มค่อนข้างยาว มี Quick Shifter ซ่อนอยู่หลังแฟริ่งอกล่าง
ถัดมาทางด้านหลังอีกเล็กน้อยจะพบกับพักเท้าผู้ซ้อน ซึ่งจะเห็นได้ว่า Honda พยายามออกแบบให้มีการเซาะร่องเจาะลดน้ำหนักให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกจุดเลยจริง ๆ
แฟริ่งตัวรถมีการทำช่องรีดอากาศตามจุดต่าง ๆ รวมถึงช่องระบายความร้อนและ winglet ต่าง ๆ เพื่อให้รถมีความลู่ลมทำความเร็วได้ดีที่สุด
รายละเอียดเล็กน้อยที่ Honda ทำตัวกันสายคลัชไว้ เวลาหักแฮนด์สายจะได้ไม่เกะกะหรือบิดไปมา
ประกับแฮนด์
ทางซ้าย ที่ตำแหน่งนิ้วชี้เป็นปุ่ม LAP เพื่อจับเวลาการขับขี่ในสนาม มีไฟฉุกเฉิน ไฟสูงพร้อมตำแหน่งไฟ Pass ในตัวกดด้วยนิ้วโป้ง ใกล้ ๆ กันมีปุ่มปรับโหมด ล่างสุดเป็นแตรและไฟเลี้ยวเหมือนมอเตอร์ไซต์ของ Honda รุ่นอื่น ๆ
ทางขวา ปุ่มสตาร์ทแบบ Run-off สไตล์ Big Bike ด้านข้างเขียนว่า Throttle by wire (คันเร่งไฟฟ้า)
Throttle by wire (คันเร่งไฟฟ้า)
ทำงานโดยใช้เซนเซอร์ตรวจวัดแรงบิดคันเร่ง แล้วส่งข้อมูลไปที่ ECU (engine control unit) เพื่อควบคุมระยะเปิดเรือนลิ้นเร่ง มาพร้อมกับโหมดการขับขี่ 3 โหมด ได้แก่ Comfort, Sport, Sport+ ทุกครั้งที่ดับเครื่องแล้วสตาร์ทใหม่จะเป็นโหมด Sport ทุกครั้ง
โดยแต่ละโหมดมีความแตกต่างกันดังนี้
Comfort ลดกำลังแรงม้าสูงสุดลงประมาณ 2 แรงม้า ลดความไวของคันเร่ง ชะลอการเปิดลิ้นเร่งให้ช้าลง มี Engine break น้อยที่สุด
Sport ปล่อยกำลังแรงม้ามาเต็ม แต่มีการลดความไวคันเร่ง และชะลอการเปิดลิ้นเร่งให้น้อยกว่าโหมดสูงสุด มี Engine break ปานกลาง
Sport + ปล่อยกำลังแรงม้าและความไวของคันเร่งแบบเต็มที่ มี Engine break สูงสุด
มาตรวัดเรือนไมล์
ให้มาเป็นแบบ Full Digital LCD ขาวดำ มีไฟ Shift light อยู่ด้านบน ทางซ้ายมีมาตรวัดอุณหภูมิและระดับน้ำมันคงเหลือ รอบ ๆ หน้าจอมีไฟบอกสถานะต่าง ๆ ของรถ ไฟเลี้ยว และไฟเกียร์ว่าง
ภายในหน้าจอมีมาตรวัดรอบดิจิตอล ตัวเลขความเร็ว โหมดการขับขี่ ตำแหน่งเกียร์ Quick Shifter นาฬิกาที่สามารถเปลี่ยนเป็นตัวจับเวลาเมื่อขับขี่ในสนามได้ และด้านล่างสุดบอกข้อมูลอื่น ๆ ครบถ้วน เช่น มีอัตราการบริโภคน้ำมันทริป A ระยะทางทริป B ระยะทางโดยรวม เป็นต้น
เวลาที่เราบิดกุญแจเปิดรถใหม่ หน้าจอจะขึ้นข้อความ “CBR” ชื่อรุ่นของตัวรถ เป็นลูกเล่นที่น่าสนใจดี
Shift light
เป็นฟีเจอร์ที่ให้มาเหมือนรถแข่งโดยเฉพาะ โดยปกติเวลาแข่งขันจริงในสนามด้วยความเร็วสูง จะต้องมองสนามตลอดจึงไม่มีเวลาสำหรับการมองรอบเครื่องยนต์บนหน้าจอ และบางครั้งก็ไม่สามารถฟังเสียงรอบเครื่องยนต์ได้ชัดเจน เพราะมีเสียงจากรถคันอื่นด้วยเช่นกัน
จึงเป็นที่มาของ Shift light ซึ่งเป็นไฟอยู่บริเวณเรือนไมล์ที่มองเห็นได้ชัดเจน เมื่อเราขับขี่ใกล้รอบเครื่องยนต์ที่ให้กำลังสูงสุด ไฟจะค่อย ๆ ติดทีละดวงไล่จากซ้ายไปขวา เมื่อครบทุกดวงก็แปลว่าถึงกำลังสูงสุดแล้วก็จะกระพริบทั้งหมด ซึ่งทำให้สังเกตได้ง่าย
เมื่อเห็นไฟกระพริบแล้วก็เตะ Quick Shifter ขึ้นได้เลย ทำให้กำลังเครื่องยนต์ไหลต่อเนื่องในทุกเกียร์ และยังเพิ่มความปลอดภัย ไม่ต้องไปคอยมองหน้าจอบ่อย ๆ ด้วย ได้อารมณ์เหมือนนักแข่งสุด ๆ
Honda CBR 250RR SP ตั้งรอบเครื่องยนต์ของไฟ Shift light ในแต่ละโหมดมาไม่เท่ากัน
โหมด Comfort – 11,000 รอบ/นาที
โหมด Sport – 12,000 รอบ/นาที
และโหมด Sport+ ตั้งไว้ที่ 12,100 รอบ/นาที
ระบบเบรก
ก่อนจะพูดถึงระบบเบรกต่าง ๆ อยากให้สังเกตที่ก้านเบรกและก้านคลัทช์สีดำ ซึ่งทาง Honda ได้มีการทำบากไว้ที่ส่วนปลายของทั้ง 2 ข้างไว้เผื่อในกรณีเกิดอุบัติเหตุล้มจนก้านหัก ก็จะหักถึงเฉพาะจุดที่ทำร่องบากไว้ ทำให้ยังมีพื้นที่เหลือในการกำเบรกหรือกำคลัทช์ขับขี่ต่อไปได้
ด้านหน้ามาพร้อมกับดิสก์เบรกเดี่ยวขนาด 310 มม. ดูใหญ่เต็มล้อ จับคู่กับปั๊มเบรก 2 ลูกสูบจาก Nissin
ปั๊มเบรก 2 ลูกสูบจาก Nissin สีทองแพลตทินัมเข้ากับล้อ จับกับขายึดแบบ Axial Mount ใช้งานจริงเอาอยู่ทุกสถานการณ์ ถึงแม้จะดูไม่พรีเมียมเท่า ZX-25R ที่จับแบบ Radial Mount ก็ตาม
ด้านหลังดิสก์เบรกเดี่ยวขนาด 240 มม. จับคู่กับปั๊มเบรก 1 ลูกสูบจาก Nissin
กระปุกน้ำมันเบรกหลังบอกระดับสูงสุดและต่ำสุดไว้ให้คอยเช็คได้ เป็นกล่องพลาสติกสีขาวขุ่นซึ่งหากต้องการความเท่ก็สามารถหาของแต่งมาใส่เพิ่มได้
Honda CBR 250RR SP ให้ระบบ ABS แบบ 2 ทางทำให้เบรกได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยยิ่งขึ้น ความรู้สึกการเบรกทางด้านหน้าถือว่าเอาอยู่เหมาะกับความแรงของเครื่องยนต์แต่ก็ไม่จิกจนหัวทิ่ม เป็นการไล่น้ำหนักชะลอความเร็วที่พอดี ก้านเบรกนิ่ม
ส่วนทางด้านหลังให้อารมณ์บิ๊กไบค์สุด ๆ คือใช้เพื่อชะลอหรือประคองรถในช่วงความเร็วต่ำ หากเป็นความเร็วกลางขึ้นไปเวลาเบรกจะไม่ค่อยรู้สึกว่ารถชะลอลงเท่าไหร่นัก
ระบบกันสะเทือน
ด้านหน้าเป็นโช๊คอัพแบบ Upsidedown ขนาด 37 มม. จาก Showa แกนสีทองสวยงาม
การขับขี่ให้ความรู้สึกไม่แข็งกระแทก สามารถขับผ่านหลุมบ่อได้นุ่มนวลกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ยังกระชับสามารถขี่ในความเร็วสูงและโค้งแรง ๆ บนถนนได้มั่นใจดีมาก ลงตัวทั้งความนุ่มกำลังดีและความมั่นใจในการขับขี่
ด้านหลังใช้สวิงอาร์มแขนคู่อลูมิเนียมผลิตด้วยวิธี Gravity Die Casting ทำให้น้ำหนักเบาแต่ยังแข็งแรง ทำสีดำจากรุ่นเดิมที่เป็นสีเงิน ดูสวยงามกันคนละแบบ ทำงานร่วมกับ Prolink (กระเดื่องทดแรง)
โช๊คหลัง Monoshock สปริงสีขาวสวย สามารถปรับ Preload ได้ 5 ระดับ
ช่วงล่างด้านหลังเป็นสไตล์สปอร์ตแข็งเล็กน้อยแต่ไม่กระด้างมาก หากขับผ่านหลุมหรือรอยต่อเล็ก ๆ จะไม่ค่อยสะเทือน สามารถรูดผ่านไปได้เลย แต่ถ้าขับผ่านเนินอาจต้องชะลอ เพราะโช๊คอัพหลังมีอาการคืนตัวเร็ว ทำให้เกิดอาการหลังดีด
เมื่อใช้งานในความเร็วสูงหรือเข้าโค้งแรง ๆ ทำงานได้ดีไม่มีปัญหาเลยแม้แต่น้อย ไม่กระด้างเกินไปแต่ก็ไม่เน้นสบาย สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน
โดยรวมแล้วช่วงล่างมีความกระชับมากกว่ารถในกลุ่ม Sport Touring อย่างเช่น Honda CBR 500R, Kawasaki Ninja400
เครื่องยนต์
เครื่องยนต์ | 2 ลูกสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ DOHC 4 วาล์ว วางข้อเหวี่ยง 180 องศา |
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี) | 249.7 |
ความกว้างกระบอกสูบ × ช่วงชัก (มม.) | 62.0 × 41.4 |
แรงม้าสูงสุด | 41 PS @ 13,000 รอบ/นาที |
แรงบิดสูงสุด | 25 Nm @ 11,000 รอบ/นาที |
ระบบคลัทช์ | คลัทช์เปียกซ้อนกันหลายแผ่นพร้อมระบบ Assist/Slipper clutch |
ระบบเกียร์ | เกียร์ 6 ระดับพร้อมระบบ Quick Shifter Up & Down |
เครื่องยนต์ใช้ก้านสูบน้ำหนักเบาและลูกสูบเคลือบสารเทฟลอนช่วยให้รอบเครื่องมาไวลื่นไหล ปรับปรุงแคมชาฟท์ใหม่ รวมกันแล้วทำให้ได้กำลังมากขึ้นและรีดรอบทำอัตราเร่งได้ดีกว่ารุ่นก่อน
หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ราคาถูกกว่าเล็กน้อย จะมีซีซีมากกว่าและมีกำลังมากกว่า แต่ค่าตัวที่มากกว่าของ Honda CBR 250RR SP จะทำให้ลูกค้าได้เครื่องยนต์ที่ให้กำลังในรอบสูงซึ่งเหมาะกับการแข่งขัน และยังมาพร้อมกับระบบ Quick Shifter Up & Down อีกด้วย
Assist/Slipper clutch ช่วยให้คลัทช์นุ่ม ออกแรงบีบน้อยลง ทดลองใช้จริงในช่วงรถติดมากกว่า 1 ชม. พบว่าก็ยังไม่รู้สึกเมื่อยมือเลยแม้แต่น้อย คลัทช์นุ่มกว่ารุ่นก่อนและ Ninja400 แบบสังเกตได้
ที่สำคัญคือช่วยป้องกันอาการล้อล็อคเวลาลดเกียร์ลงเร็ว ๆ หลายเกียร์ได้ดี ทำงานเนียน ทำให้ขับขี่หรือลดความเร็วได้ปลอดภัยมากขึ้น
Quick Shifter Up & Down ช่วยทำให้เปลี่ยนเกียร์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องกำคลัทช์ทั้งขึ้นและลง ซึ่งทำงานได้ดี เตะได้อย่างนุ่มนวล ไม่ติดขัด ได้อารมณ์สปอร์ตอย่างแท้จริง
ใครที่ไม่เคยชินกับการขี่รถมีคลัทช์เวลาเบรกฉุกเฉินมักจะตกใจและกำคลัทช์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย การมีระบบทั้ง 2 อย่างนี้ช่วยให้ลดเกียร์ลงได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องแตะคลัทช์เลย จึงทำให้การขับขี่สนุกยิ่งขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น สมกับราคา
ความรู้สึกการขับขี่
ในช่วงรถติดถือว่ามุดไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่พับกระจกก็สามารถวิ่งผ่านการจราจรไปอย่างง่ายดาย ระวังเพียงแฮนด์เล็กน้อยเท่านั้น แต่หากต้องเลี้ยวเปลี่ยนช่องก็จะยากหน่อย เพราะรถค่อยข้างยาว พยายามมุดทางตรงไปจะดีกว่า
ความร้อนในช่วงรถติดรู้สึกถึงไอระอุ แต่ไม่ได้ร้อนทรมานหรือแสบขาจนทนไม่ได้ ไอร้อนจะออกมาทางแฟริ่งด้านข้าง แต่เมื่อขับขี่ใช้ความเร็วได้ปกติก็แทบไม่รู้สึกร้อนอะไรมาก
เครื่องยนต์รอบต้นช่วง 4,000 – 5,000 รอบ/นาทีจะไม่มีแรงดึงมากนัก ขับขี่ง่าย ดูธรรมดา
หากต้องการความสนุกในการขับขี่ ควรเลี้ยงรอบไว้ที่ 7,000 รอบ/นาทีขึ้นไป จะมีแรงดึงพร้อมที่จะพุ่งไปข้างหน้า เสียงท่อเริ่มเร้าใจขึ้นเรื่อย ๆ
ถึงตรงนี้แล้วต้องหนีบถัง เก็บคอ หุบศอกให้แน่น ที่สำคัญเลยคือตามองถนนไว้ตลอด เพราะรอบเครื่องจะกวาดขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับเสียงที่แผดคำรามและความเร็วที่พุ่งออกไปจนอาจตกใจได้
ต้องบอกเพื่อน ๆ เลยว่าหากมีถนนเพียงพอ เสียงและอัตราเร่งที่รุนแรงทำให้รู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับการขับขี่ Honda CBR250RR SP คันนี้มาก ๆ
โดยเฉพาะในจังหวะที่เรากดคันเร่งค้างไว้แล้วเตะ Quick Shifter ขึ้นทำให้อัตราเร่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อต้องชะลอความเร็วก็สามารถกดเกียร์ลงได้ เสียงเครื่องที่ค่อย ๆ ลดความเร็วลงทำให้รู้สึกถึง Dynamic การขับขี่ที่มีทั้งการเร่งและเบรกที่สนุกแบบไม่สามารถบรรยายได้ ต้องไปลองเอง
สังเกตว่าพักเท้า แฮนด์ เบาะ รวมถึงถังน้ำมันทำให้ซุกหมอบได้อย่างพอดี
น้ำหนักตัวรถเวลาเข็นอาจจะดูหนักกว่ารถตลาดทั่วไป แต่เวลาขับขี่จริงกลับรู้สึกเบาและคล่องตัวมาก พลิกเลี้ยวได้ง่ายไม่ต้องใช้แรงเยอะ รวมกับช่วงล่างเฟิร์มกระชับแต่ไม่กระด้าง ทำให้ขับขี่ในความเร็วสูงได้มั่นใจยิ่งขึ้น และเบรกที่ให้มาก็เอาอยู่เช่นกัน
แม้ว่าจะเกิดมาเป็น Sport แท้ ๆ แต่ก็สามารถขับชิว ๆ ได้ จะขี่ช้าหรือเร็วก็เท่อยู่ดี ท่านั่งเวลาไม่ได้หมอบหลังยังคงมีความโน้มไปด้านหน้า ไม่ได้ตั้งตรงสบายมากเหมือนกับ Sport Touring พักเท้าค่อนข้างสูงและเยื้องไปด้านหลังชัดเจน
Top speed ของรถคันนี้ล็อคไว้ที่ 180 กม./ชม. โดยความเร็วในช่วง 0 – 100 กม./ชม. ใช้เวลาประมาณ 7 วินาที (ผมออกตัวช้า คนที่ออกตัวได้เร็วกว่านี้ทำเวลาได้ถึงเลข 6 กันเลยทีเดียว)
อัตราบริโภคน้ำมัน
ถังน้ำมันมีความจุ 14.5 ลิตร ฝาถังเปิดโดยการใช้กุญแจไข เมื่อเปิดแล้วจะติดอยู่ด้านบนทำให้ไม่ต้องคอยถือไว้เวลาเติมน้ำมันเหมือนรถยุคต้น 2000
อัตราบริโภคน้ำมันหากขับขี่ในเมืองที่รถติดมาก ๆ เร่งความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ได้ช่วงสั้น ๆ แค่แยกไฟแดง ทำได้อยู่ที่ 19 กม./ลิตร หากขับขี่ช่วงการจราจรปกติใช้ความเร็ว 80 – 120 กม./ชม. และ Top Speed เล็กน้อยทำได้ที่ 23 กม./ลิตร
ด้วยความที่เป็นรถแนว Racing Replica ทำให้เครื่องยนต์เน้นกำลังในรอบสูงตามมาด้วยการบริโภคน้ำมันที่เยอะขึ้น ซึ่งแตกต่างจากแนว Sport Touring เช่น CBR500R ที่อาจทำอัตราบริโภคน้ำมันได้ดีกว่าถึง 28 กม./ลิตร
ทั้งนี้อารมณ์การขับขี่ก็ต่างกันมาก ใครที่ไม่ได้เน้นความประหยัดก็เลือก Honda CBR 250RR SP ได้เลย เพราะจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ถือว่ากินน้ำมันจนรับไม่ได้
ถ้าเทียบกับรุ่นที่มีราคาใกล้กัน
Sport Touring ไม่ว่าจะเป็น Yamaha R3, Kawasaki Ninja400, Honda CBR500R ล้วนแต่มีราคาถูกกว่า Honda CBR250RR SP ประมาณ 40,000 บาทเลยทีเดียว มีท่านั่งที่สบายกว่า ไม่ต้องก้มมาก
Sport Touring เครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่าทำให้อัตราเร่งในช่วงต้นดีกว่าเล็กน้อย มีอัตราการบริโภคน้ำมันที่น้อยกว่า (ประหยัดกว่า)
Sport Touring มีอารมณ์การขับขี่ไม่ใช่แนวรถแข่ง ส่วนใน Kawasaki Ninja400, Honda CBR500R จะมีระบบ Assist & Slipper Clutch มาให้ด้วย
ส่วน Honda CBR250RR SP โดดเด่นกว่า Sport Touring ด้วย Quick Shifter (แค่นี้ก็คุ้มแล้ว ไปทำเพิ่มเองอาจไม่ดีเท่านี้) มีโหมดการขับขี่ให้เลือกได้ ช่วงล่างและเบรกรองรับการแข่งขันในสนาม นิสัยเครื่องยนต์แบบรถแข่งทำให้มีความเร้าใจมากกว่า เน้นการขับขี่ในรอบสูง
Kawasaki ZX25R จะแพงกว่า Honda CBR250RR SP ประมาณ 20,000 บาท มี Quick Shifter เหมือนกัน เครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียงให้ความรู้สึกและเสียงที่ต่างกัน กินน้ำมันเท่ากันหรือมากกว่าเล็กน้อย (เพราะมี 4 สูบ)
ข้อดี/เหมาะกับใคร
ข้อสังเกต/ไม่เหมาะกับ
สรุป
Honda CBR250RR SP มาในราคา 269,000 บาท ที่ค่อนข้างมีราคาสูง แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาก็ถือว่าคุ้มราคาเมื่อเทียบกับ Option ที่ได้รับและความรู้สึกในการขับขี่ที่ไม่สามารถหาได้จากรถในราคาที่ใกล้เคียงกัน
Option ที่โดดเด่นและทำให้การขับขี่สนุกได้อารมณ์นักแข่งคือ Quick Shifter เป็นประสบการณ์ที่ได้ลองแล้วจะติดใจ ทั้งกำลังที่ถูกส่งออกมาอย่างต่อเนื่องและเสียงที่เพราะเกินบรรยายเวลาเตะเกียร์ขึ้น และเวลาเตะเกียร์ลงก็ทำงานร่วมกับ Slipper Clutch เพื่อป้องกันล้อล็อคก็จะได้ความสนุกอีกแบบที่ดีมาก ๆ
หน้าจอมีไฟ Shift Light แบบรถแข่ง และตัวรถก็มีท่านั่งแบบรถแข่งที่สามารถใช้ในถนนทั่วไปได้ เน้นท่าการขับขี่ที่ให้อารมณ์สนุกมั่นใจ ไม่ใช่ความสบาย เหมาะกับคนที่ชอบหมอบ ชอบอารมณ์ความเป็นสปอร์ต ไม่ได้เน้นความประหยัดน้ำมันแต่เน้นความสนุกที่ไม่เหมือนใคร
รถไฟฟ้าที่น่าสนใจ...
รถยอดนิยม
Mazda 2 ราคาเริ่มต้น 546,000.
Mazda 3 ราคาเริ่มต้น 969,000.
Mazda CX-3 ราคาเริ่มต้น 769,000.
Nissan Almera ราคาเริ่มต้น 499,000.
Nissan Kicks ราคาเริ่มต้น 889,000.
Nissan Navara ราคาเริ่มต้น 599,000.
Honda City ราคาเริ่ม 579,500.
Honda City Hatchback ราคาเริ่ม 599,000.
Honda City e:HEV ราคา 839,000.
Honda Civic ราคาเริ่ม 874,000.
Mitsubishi Triton ราคาเริ่มต้น 539,000.
Mitsubishi Xpander ราคาเริ่มต้น 789,000.
Mitsubishi Pajero Sport ราคาเริ่มต้น 1,299,000.
Toyota Revo ราคาเริ่มต้น 544,000.
Toyota Yaris ATIV 4 ประตู ราคาเริ่มต้น 529,000.
Toyota Yaris 5 ประตู ราคาเริ่มต้น 539,000.
Toyota Corolla Cross ราคาเริ่มต้น 989,000.
Toyota Fortuner ราคาเริ่มต้น 1,319,000.
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " รีวิว Honda CBR 250RR SP คุ้มค่ากับความแรง เตะควิกชิฟเตอร์สนุกสุด ๆ "