
รีวิว MAZDA BT-50 Pro THUNDER 2.2 Hi-RACER AT ปรับโฉมด้านหน้าใหม่..ดึงดูดสายตามากยิ่งขึ้น ภายใต้สมรรถนะขับสนุกและเร้าใจเช่นเดิม
นับเป็นการปรับโฉมครั้งสุดท้ายของ MAZDA เลยก็ว่าได้ สำหรับรถกระบะอย่าง BT-50 PRO THUNDER หลังจากที่ทำตลาดมายาวนานจนแทบครบอายุของโมเดล โดยการเผยโฉมครั้งนี้แน่นอนว่ามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดหลายจุด เพื่อดึงดูดความน่าสนใจ ภายใต้นิยาม ‘ให้ทุกเป้าหมายเป็นจริงได้’
ซึ่งการเปิดตัวครั้งนี้ มีทั้งรุ่น Double Cab และ FreeStyle Cab โดยหวังกระตุ้นกลุ่มผู้บริโภคในเรื่องของการสร้างการจดจำของแบรนด์ในส่วนของไลน์รถกระบะของมาสด้า
พร้อมวางเป้ายอดขายไว้ที่ 7,000 คัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 15% ตอบโจทย์กลุ่มกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรถกระบะที่มีสมรรถนะสูง ให้ทั้งความแรงและประหยัด ซึ่ง 9Carthai มีโอกาสได้นำรุ่น MAZDA BT-50 Pro THUNDER 2.2 Hi-RACER AT มารีวิว
รูปลักษณ์ภายนอก สำหรับรายละเอียดความที่เห็นอย่างชัดเจนสำหรับ BT-50 PRO THUNDER คือแผงกระจังหน้าที่ยกระดับความพรีเมียมยิ่งขึ้นจากเดิมที่เป็นพลาสติกสีดำ มาเป็นแบบซี่สามแถวแนวนอนล้อมด้วยกรอบแถบโครเมียม ช่วยเสริมให้มุมมองสะดุดตาและมีสไตล์มากขึ้น
ส่วนไฟหน้าเป็นมัลติรีเฟลกเตอร์ แบบฮาโลเจน พร้อมระบบเปิด-ปิด แบบอัตโนมัติ ถัดลงมาบริเวณชุดกันชนที่มุมไฟสปอร์ตไลท์มีการเพิ่มกรอบด้วยพลาสติกสีดำ ต่อเนื่องไปถึงกันชนดีไซน์ให้ภาพลักษณ์ที่มีมิติและสปอร์ตเร้าใจขึ้นอีกขั้น
ด้านข้างเติมเต็มความเท่ด้วยลายสติ๊กเกอร์กราฟิก THUNDER
ส่วนด้านข้างเติมเต็มความเท่ด้วยลายสติ๊กเกอร์กราฟิก THUNDER ให้ความแกร่งและขึ้นลงได้สะดวกขึ้นกับบันไดข้างสแตนเลสทรงกลมที่มาพร้อมแผ่นยางกันลื่น มิติตัวรถ : กว้าง 1,850 มม. ยาว 5,365 มม. สูง 1,821 มม. ระยะฐานล้อ 3,220 มม. ระยะห่างระหว่างล้อหน้า / หลัง 1,560 / 1,560 มม. ระยะต่ำสุดจากพื้น 237 มม. มิติกระบะ : กว้าง 1,560 มม. ยาว 1,549 มม. สูง 513 มม. รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 6.2 เมตร
กล้องมองหลังพร้อมจอแสดงผลบนกระจกมองหลัง
ส่วนล้อแม็กยังคงรูปดีไซน์เดิมแบบทูโทนขนาด ขนาด 17 นิ้ว พร้อมยาง 265/65 R17
ภายในห้องโดยสาร รายละเอียดทั้งหมดยังคงรูปแบบเดิม เน้นความเข้มขรึมสะท้อนความมีระดับโดยใช้ธีมโทนสีดำ เสริมด้วยวัสดุสีเทาให้อารมณ์หรูลุ่มลึก ลงตัวด้วยดีไซน์สไตล์ค๊อกพิท (Cockpit Design) พร้อมเบาะนั่งหุ้มหนัง (Leather Seat) ที่ทั้งกว้างและนุ่มสบาย
ห้องโดยสารด้านหลังกว้างขวาง นั่งสบายตลอดทางด้วยเบาะนั่งลาดเอียงในองศาที่ผู้โดยสารรู้สึกผ่อนคลาย พนักพิงศีรษะที่เบาะหลัง 3 ตำแหน่ง ที่พักแขนที่นั่งด้านหลังจัดเก็บสัมภาระได้ง่ายดายด้วยช่องเก็บของพร้อมฝาปิด เหนือระดับอีกขั้นด้วยออปชั่นที่ครบครัน และเทคโนโลยีเชื่อมต่อที่ล้ำสมัย เติมเต็มความสะดวกสบายและความบันเทิงในทุกเวลา Mazda BT-50 PRO ให้คุณมั่นใจและเพลิดเพลินในทุกเส้นทาง
ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบแยกอิสระซ้าย-ขวา เติมเต็มความบันเทิงได้ทุกเวลากับเทคโนโลยีเชื่อมต่อที่ล้ำสมัย ด้วยจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว แบบ Anti-Glare Screen ลดแสงสะท้อนให้มุมมองคมชัดยิ่งขึ้น รองรับ CD MP3/DVD 1 แผ่นและระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth มาพร้อมลำโพง 6 ตำแหน่ง สำหรับระบบปรับอากาศอัตโนมัติ เป็นแบบแยกอิสระซ้าย-ขวา กล้องมองหลัง พร้อมกระจกมองหลังแบบปรับลดแสงอัตโนมัติ
พวงมาลัยสามก้านทรงสปอร์ต สไตล์เฉกเช่นรถยนต์นั่งหรู พร้อมสวิตช์ควบคุมระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control-เครื่องเสียง แผงหน้าปัดและมาตรวัดความเร็วทรงกลมแบบไร้ขอบ (Hoodless Design) ออกแบบแยกส่วนเป็นอิสระจากกัน ทันสมัยด้วยจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-Info Display) แสดงรายละเอียดแก่ผู้ขับขี่
นอกจากนี้ยังให้ความอเนกประสงค์และลงตัวกับการใช้งานยิ่งขึ้นด้วยหลากหลายอุปกรณ์ เช่น ช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอก (12 โวลท์) ถึง 3 ตำแหน่ง ช่องต่อ AUX/USB ช่องเก็บของใต้เบาะผู้โดยสารตอนหลัง ช่วยให้จัดเก็บสัมภาระได้เรียบร้อย และกุญแจพับเก็บได้แบบ Jack Knife Type
ขุมพลัง สมรรถนะแกร่งด้วยเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล Di-THUNDER PRO VN TURBO แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.2 ลิตร ทำงานร่วมกับเทอร์โบแปรผันใหม่ (Variable-Nozzle Turbocharger) และอินเตอร์คูลเลอร์ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (110 กิโลวัตต์) ที่ 3,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 375 นิวตัน-เมตร ที่ 1,500-2,500 รอบ/นาที ความจุถังน้ำมัน 80 ลิตร
ระบบส่งกำลัง เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ นับเป็นครั้งแรกในรถปิกอัพที่มีเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะคุณภาพสูง มาพร้อมระบบ SSC (Sequential Shift Control) ที่ให้ผู้ขับเลือกเปลี่ยนเกียร์เองได้เสมือนการขับขี่แบบเกียร์ธรรมดา และระบบ AAS (Active Adaptive Shift) ที่ช่วยคุมการเปลี่ยนเกียร์ให้เหมาะสมกับทุกสภาพการขับขี่
อัตราทดเกียร์ (1) 4.171 (2) 2.342 (3) 1.521 (4) 1.143 (5) 0.867 (6) 0.691 (R) 3.403 อัตราทดเฟืองท้าย 3.730
ระบบความปลอดภัย คงความมั่นใจด้วยโครงสร้างตัวถังขึ้นรูปจากเหล็กกล้า ทนแรงดึงสูงที่แข็งแกร่งและมีน้ำหนักเหมาะสมกับขนาดเครื่องยนต์ พร้อมอัดแน่นด้วยหลายเทคโนโลยีล้ำ ทั้งระบบป้องกันการลื่นไถล TCS (Traction Control System), ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ (Roll-Over Mitigation), ระบบเพิ่มแรงเบรกฉุกเฉิน EBA (Emergency Brake Assist), ระบบเบรกอัตโนมัติ BOS (Break Override System), ระบบควบคุมน้ำหนักบรรทุกแบบแปรผัน LAC (Load Adaptive Control) รวมไปถึงระบบเพิ่มแรงเบรกฉุกเฉิน EBA (Emergency Brake Assist) และระบบเบรกอัตโนมัติ BOS (Brake Override System) ระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ และระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ ระบบสัญญาณไฟฉุกเฉินกะพริบเมื่อเบรกฉุกเฉิน ESS (Emergency Stop Signal) เข็มขัดนิรภัยแบบดึงรั้งกลับอัตโนมัติ 3 จุด 2 ตำแหน่ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้าเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่น และกล้องมองหลัง
ระบบช่วงล่างอัจฉริยะ SUPER DE-S ด้านหน้าเป็นแบบปีกนกคู่ (Double-Wishbone) กับคอยล์สปริง เสริมด้วยเหล็กกันโคลงหน้า (Stabilizer Bar) และโช้กอัพแบบ 2 จังหวะ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการทรงตัว ช่วงล่างด้านหลังแบบแหนบแผ่นซ้อน (Leaf-Spring) และโช้กอัพแบบ 2 จังหวะ ไขว้ทแยงมุม สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้เหลือเฟือ พร้อมให้สมรรถนะการบังคับควบคุมที่ดี ระบบเบรกด้านหน้า ดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อน พร้อมคาลิเปอร์แบบสองลูกสูบ ด้านหลังดรัมเบรก พร้อมระบบปรับแรงดันเบรกอัตโนมัติ
ทดสอบเสมือนขับใช้งานจริง กรุงเทพฯ-สระบุรี รวมระยะทางไป-กลับ 180 กม.
สำหรับการทดสอบในแต่ละครั้ง เราจะเน้นการขับเสมือนใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องเจอกับสภาวะการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพการจราจร มีติดขัดมีชะลอและสามารถขับด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ลักษณะของถนนหนทาง ซึ่งบางครั้งต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นทางเบี่ยง ทางลูกรัง พื้นที่ที่มีการซ่อมแซม และทางเรียบ โดยทั้งหมดล้วนมีผลต่อการพิสูจน์สมรรถนะรถทั้งสิ้น
เสา A Pillar มีขนาดไม่หนาทึบจนเกินไป
สำหรับการขับเริ่มต้นโดยใช้เส้นทางสายหลัก วิภาวดี-พหลโยธิน มุ่งหน้าสู่จังหวัดสระบุรี สภาพการจราจรช่วงแรกมีเคลื่อนตัวเรื่อยๆ สลับกับชะลอตัว และคับคั่งด้วยรถบรรทุก ซึ่งในจุดนี้ก็สามารถพิสูจน์ความคล่องตัวในการใช้งานได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปลี่ยนเลนไปในช่องทางที่โล่งและลื่นไหลกว่าก็ทำได้สะดวก เพราะด้วยขนาดความสูงของรถบวกกับเสา A Pillar มีขนาดไม่หนาทึบจนเกินไป ทำให้มุมที่กว้างและสามารถมองเห็นทำได้อย่างชัดเจนและปลอดภัย อีกส่วนหนึ่งมาจากพวงมาลัยที่เป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง ERS การบังคับทิศทางในช่วงความเร็วต่ำจึงทำได้ค่อนข้างเบามือ แต่ในช่วงความเร็วสูงรู้สึกว่าเซ็ตความหน่วงน้อยไปสักหน่อย จึงอาจทำให้พวงมาลัยนั้นค่อนข้างไวไปสักนิด
ส่วนความสะดวกสบายในการนั่ง นับเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นด้วยตัวเบาะออกแบบให้สูงจากพื้นพอสมควร จึงช่วยให้ผู้ขับมีทัศนะวิสัยในการมองที่ดี อีกทั้งตำแหน่งของพนักพิงหลังก็ซับพอร์ตกับสรีระได้กำลังพอเหมาะนุ่มสบายไม่ยวบเป็นหลุม ไม่แคบและกว้างจนเกินไป คนรูปร่างท้วมหรือผอมก็ไม่เป็นปัญหา แถมยังมีระบบดันหลังมาให้ ส่วนฐานเบาะก็รองรับได้ค่อนข้างดีนั่งได้เต็มก้นและรับกับใต้ท้องขาได้พอดี เวลาขับไกลๆ ก็ช่วยให้ผู้ขับรู้สึกว่าเมื่อยล้าน้อยลง
นอกจากนี้พนักพิงศีรษะก็ยังปรับระดับสูง-ต่ำได้ โดยฝั่งคนขับสามารถปรับตำแหน่งได้ 4 ทิศทาง ฝั่งผู้โดยสาร 2 ทิศทาง ซึ่งก็แอบผิดหวังเล็กน้อยที่การปรับนั้นยังเป็นมือโยก ถ้าเป็นแบบปรับไฟฟ้าจะยิ่งดีกว่านี้
สำหรับเบาะหลังนับว่านั่งได้สบายในระดับหนึ่ง ตัวพนักพิงถูกออกแบบในมีความเอียงจึงช่วยลดความเมื่อยล้า ส่วนตรงกลางเมื่อง้างออกมาก็มีที่ท้าวและหลุมวางขวดน้ำ-แก้วน้ำ ในขณะที่ฐานเบาะก็ไม่ได้สั้นจนเกินไป สามารถรับกับต้นขาและใต้ท้องขาได้อย่างสบาย
รายละเอียดของดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ในห้องโดยสาร ภาพรวมนับว่าให้ความรู้สึกเรียบๆ แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบความหวือหวาทันสมัยก็อาจรู้สึกว่าดูจืดๆ ไปสักนิด ส่วนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ นับว่าติดตั้งมาให้อย่างเพียงพอ สามารถรองรับการใช้งานในได้อย่างลงตัวทั้งการขับขี่ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว
ในขณะที่การเก็บเสียงเมื่อใช้ความเร็วระดับ ตั้งแต่ 0-100 กม./ชม. นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทีเดียว เสียงจากลมที่มาปะทะบริเวณกระจกบานหน้าหรือจากกระจกมองข้างเล็ดรอดเข้ามาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาจจะมีบ้างก็เป็นเสียงของยางที่สัมผัสกับพื้นผิวถนน แต่ก็สร้างความรบกวนให้กับผู้ขับขี่แต่อย่างใด
เมื่อพ้นจากเขตวังน้อยเริ่มขยับปรับความเร็วเพิ่มขึ้น ซึ่งพละกำลังจากเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร ที่ทำงานร่วมกับเทอร์โบแปรผัน 150 แรงม้า (110 กิโลวัตต์) ที่ 3,700 รอบ/นาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 375 นิวตัน-เมตร ที่ 1,500-2,500 รอบ/นาที ก็ตอบสนองได้ดีเป็นที่น่าพอใจ แม้ช่วงการเทคตัวจากจุดหยุดนิ่งออกอาการหนืดๆ ไปบ้าง แต่เมื่อทำความเร็วเพิ่มขึ้นไปถึง 80-90 กม./ชม ก็ทำได้แบบลื่นไหล อีกทั้งเติมคันเร่งจากความเร็วที่ลอยตัวอยู่แล้วพละกำลังก็ถ่ายทอดออกมาให้สัมผัสอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว ช่วยให้ผู้ขับไม่ต้องลุ้นเหนื่อยโดยเฉพาะเมื่อต้องการเร่งแซง ส่วนการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ก็รู้สึกได้ชัดเจนว่าจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ทำได้ค่อนข้างราบเรียบและต่อเนื่อง
ช่วงล่างด้านหน้าแบบปีกนกคู่กับคอยล์สปริง เสริมด้วยเหล็กกันโคลงหน้า (Stabilizer Bar) และโช้กอัพแบบ 2 จังหวะ
เมื่อเข้าสู่ถนนเลี่ยงเมืองสระบุรี เพื่อมุ่งหน้าไปที่น้ำตกเขาสามหลั่น เส้นทางเปลี่ยนจากราบเรียบมาเป็นลูกรังในบางช่วง เพราะเป็นเขตที่มีการก่อสร้างทางยกระดับ แน่นอนว่าก็สามารถพิสูจน์กับสมรรถนะการทำงานของระบบช่วงล่างได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งที่สัมผัสได้คือช่วงล่างที่ออกไปในทางแน่นๆ หนึบๆ เก็บแรงสะท้อนจากพื้นผิวที่ไม่เรียบได้ค่อนข้างดีทีเดียว ส่วนคนที่ชอบความนุ่มนวลหน่อย อาจจะไม่ชอบฟิลลิ่งแบบนี้เท่าไหร่นัก
ในขณะที่การเปลี่ยนเลนแบบกะทันหันบนผิวถนนที่ไม่ราบเรียบหรือต่างระดับก็ยังวางใจได้ ช่วงล่างแสดงคาแรคเตอร์ค่อนข้างชัด ยึดเกาะได้ดีและคอนโทรลรถได้แม่นยำ
ที่สำคัญก็มีตัวช่วยด้านความปลอดภัยติดตั้งมาให้ ไม่ว่าจะเป็น ระบบป้องกันการลื่นไถล TCS และระบบป้องกันการพลิกคว่ำ ส่วนการเบรกนับว่าสะท้อนความเป็นรถกระบะที่ขับได้สนุกและมั่นใจ โดยการชะลอความเร็วในช่วงรถไหลๆ รู้สึกได้ชัดว่าเหยียบแป้นเบรกไม่ต้องลึกมาก การจับตัวของคาลิเปอร์ก็ทำงานหน่วงความเร็วได้ค่อนข้างดีทีเดียว ส่วนในช่วงความเร็วสูงหากต้องการให้รถหยุดในระยะที่ต้องการ ผู้ขับอาจรู้สึกว่าต้องกดแช่เบรกนานไปสักนิดกว่ารถจะจอดสนิท
สรุป : การปรับโฉมของ MAZDA BT-50 Pro THUNDER ครั้งนี้นับเป็นการปรับในรายละเอียดเฉพาะด้านนอกตัวรถเท่านั้น ประกอบด้วยชุดกระจังหน้า-กันชนหน้า และสติ๊กเกอร์ตกแต่งด้านข้างตัวรถ ซึ่งภาพรวมก็ช่วยเสริมให้ตัวรถมีความน่าสนใจและดึงดูดสายตามากขึ้น โดยมีให้เลือก 3 รุ่นย่อยเท่านั้น ส่วนรุ่นย่อยอื่นยังคงดีไซน์เดิม สำหรับสมรรถนะและประสิทธิภาพในการขับขี่ ยังคงเป็นรถกระบะที่สามารถตอบโจทย์การขับขี่ได้อย่างสนุกเร้าใจและแข็งแกร่งสมบุกสมบันภายใต้ DNA ที่บ่งบอกตัวตนของ MAZDA อย่างชัดเจน
โดย BT-50 PRO THUNDER มีให้เลือกทั้งตัวถังฟรีสไตล์แคบ (บานแค็ปเปิดได้) FSC Hi-Racer เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และรุ่น 4 ประตู DBL Hi-Racer ทั้งแบบเกียร์ธรรมดา และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีให้เลือกทั้งหมด 4 สี ประกอบด้วย ขาว-คูลไวท์, เงิน-อลูมิเนียม เมทัลลิค, ดำ-เจ็ทแบล็ก และขาวมุก-สโนว์เฟลก ราคา รวมอุปกรณ์ตกแต่ง Mazda BT-50 PRO THUNDER (*สีเมทัลลิค เพิ่ม 7,000 บาท และ **สีขาวมุก สโนว์เฟลก เพิ่ม 7,000 บาทเช่นกัน)
– รุ่น FreeStyle Cab Hi-Racer 2.2L 6MT 701,000 บาท*
– รุ่น Double Cab Hi-Racer 2.2L 6MT 792,000 บาท*
– รุ่น Double Cab Hi-Racer 2.2L 6AT 952,000 บาท**
สิ่งที่อยากให้ปรับปรุง : การปรับตำแหน่งเบาะควรเป็นระบบไฟฟ้า, จอแสดงภาพจากกล้องมองหลังที่กระกระจกเล็กไป
สิ่งที่อยากให้มี : ไฟหน้าแบบเดย์ไทม์ รันนิงไลท์
ขอขอบคุณ : บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
รถไฟฟ้าที่น่าสนใจ...
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " รีวิว MAZDA BT-50 Pro THUNDER 2.2 Hi-RACER AT ปรับโฉมด้านหน้าใหม่..ดึงดูดสายตามากยิ่งขึ้น ภายใต้สมรรถนะขับสนุกและเร้าใจเช่นเดิม "