รีวิว All New Suzuki SWIFT GLX-Navi CVT กะทัดรัด สมรรถนะดี ขับขี่สนุก
ในความคิดของผู้ใช้รถส่วนใหญ่มักมองและเชื่อว่าคุณสมบัติเฉพาะตัวของ ‘รถสไตล์อีโคคาร์’ เต็มที่ก็ใช้ดีเฉพาะในเมืองเท่านั้นแหละ ความอเนกประสงค์หรือเทคโนโลยีต่างคงเทียบกับรถซีดานหรือรถประเภทไม่ได้ ส่วนความปลอดภัยคงไม่ต้องคาดหวัง เพราะถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของราคา หากคุณคิดแบบนั้นและย้อนไปเมื่อสัก 5-10 ปีที่ผ่านมาก็คงไม่ผิดนัก แต่ในปัจจุบันบอกเลยไม่ใช่เด็ดขาด เพราะรถสไตล์นี้มีอะไรมากกว่าที่คิด ฉะนั้นลองเปิดใจและเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ที่ทีมงาน 9Carthai ได้นำมาเสนอในครั้งนี้
ย้อนไปเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังทีมงาน 9Carthai ได้สัมผัสกับ All New Suzuki SWIFT รุ่นใหม่ เจเนอเรชั่นที่ 3 กับกิจกรรมการทดสอบแบบกลุ่ม ที่จัดขึ้นโดยบริษัทซูซูกิบนเส้นทางของจังหวัดเชียงใหม่ และก็มีการรีวิวเป็นบทความแบบกระชับไปแล้ว แต่ด้วยเหตุผลของเรื่องระยะเวลาและเส้นทางที่ค่อนข้างสั้นกับการขับทดสอบในครั้งนั้น ต้องบอกว่ายังไม่ได้เจาะลึกรายละเอียดสักเท่าไหร่นัก วันนี้ 9Carthai จึงได้นำมา SWIFT เจเนอเรชั่น 3 มาทดสอบกันอีกครั้ง พร้อมสรุปเป็นบทความแบบแบบตรงไปตรงมาให้ผู้อ่านได้รับรู้ข้อมูลกันอีกครั้ง
รูปลักษณ์ภายนอกเท่เร้าใจออกแนวน่ารัก แต่ไม่ถึงกับดุดัน
ที่มาที่ไปของ All New Suzuki SWIFT เจเนอเรชั่นที่ 3 นั้น ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์หลัก คือการควบรวม INNOVATION-Fun & Sporty เข้าไว้ด้วย ซึ่งก็หมายถึงการนำนวัตกรรมใหม่มาพัฒนารถสไตล์นี้ที่ทางซูซกิมีประสบการณ์และความถนัด ผสานกับสมรรถนะการขับขี่ที่สนุก โดยยังคงเอกลักษณ์ดีไซน์ซึ่งมีกลิ่นอายความสปอร์ตอยู่ในตัว ถ่ายทอดผ่านการออกแบบใหม่หมดทั้งคัน
รูปลักษณ์ภายนอก จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ด้านหน้าดีไซน์ค่อนข้างฉีกจากรุ่นเดิมแบบชัดเจน แผงกระจังหน้ามาในลักษณะของสี่เหลี่ยมคางหมูประกบกัน ตรงกลางเป็นแผงรูปแบบรังผึ้งสีดำตัดด้วยเส้นสีแดง โดยถูกจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างต่ำและมีเส้นกรอบเป็นชิ้นเดียวกัน ในขณะที่รุ่นก่อนหน้านั้นเป็นแบบ 2 ช่องแยกชิ้น ซึ่งสอดรับกับแถบสีดำใต้ล่างที่โอบรับคลุมกับชุดไฟตัดหมอกซ้ายขวาแบบพอดี ส่วนภาพรวมจะให้บอกว่าแบบใดสวยกว่ากันคงไม่ฟันธงก็อยู่ที่มุมองของแต่ละบุคคล แต่ในมุมผู้เขียนส่วนตัวรู้สึกว่าเท่กว่ารุ่นเดิม แต่ถึงขั้นดุดันสปอร์ตไหมก็ไม่เชิงซะทีเดียว
ขณะที่ชุดไฟหน้าภาพรวมนับว่าดูโฉบเฉี่ยวและสะดุดตาขึ้น และมีขนาดเล็กเรียวกว่าเดิม พร้อมเติมรายละเอียดในโคมด้วยไฟ LED Projector ที่ด้านล่างถูกโอบรับด้วยชุด Daytime Running Light ดูแล้วก็ลงตัวเข้ากันอยู่ไม่น้อย โดยข้อมูลจากทีมวิศวกรบอกว่าไฟ Daytime Running Light ของรุ่นใหม่นี้ กลางวันให้ความสว่างมากขึ้น และเพิ่มการมองเห็นจากรถคันที่สวนทางมาได้ในระยะไกล ส่วนช่วงเวลากลางคืนก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปแยงตาชาวบ้าน เพราะความสว่างจะลดลงอีก 30% เพื่อป้องกันการแยงตา
ส่วนด้านข้างเมื่อมองเข้าไปกระจกของประตูหน้า-หลัง เส้นสายโครงรถดูเผินๆ อาจดูไม่แตกต่างจากรุ่นเดิมมากนัก แต่เมื่อเจาะรายละเอียด ความน่าสนใจนั้นอยู่ที่บริเวณประตูหลัง คือเส้นสายกรอบประตูมีมุมเอนสอดรับกับเสาซี (รุ่นเดิมกรอบประตูแทบจะตัดตรง) ขณะเดียวกัน ‘มือเปิดประตูหลัง’ ยังถูกย้ายตำแหน่งมาบริเวณกรอบกระจกแบบแนบสนิท และจุดของฐานมือเปิดที่เป็นพลาสติกสีดำยังมีการออกแบบให้ลื่นไหลต่อเนื่องเสมือนเป็นชิ้นเดียวโอบโค้งรับตามมุมกระจกท้ายรถ ในมุมส่วนตัวแง่ของการใช้งานเชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกว่าไม่ถนัดเท่าไหร่นัก เนื่องจากดีไซน์เป็นแนวตั้งหรือหากคิดแทนสำหรับเด็กตัวเล็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ให้เปิดเพื่อขึ้นรถเอง ก็คงลำบากเพราะตำแหน่งค่อนข้างสูง แต่ถ้ามองในมุมความแปลกใหม่บอกเลยว่าดูดีและเท่อยู่ไม่น้อยทีเดียว
สำหรับด้านท้ายดีไซน์ของไฟหลังเห็นได้ชัดว่ามีขนาดเล็กกว่าเดิม รูปทรงมีมุมปลายไม่แหลมเหมือนรุ่นก่อนหน้า มีเลนไฟหลักเป็นสีแดงแซมด้วยสีใสทรงแหลี่ยมพื้นผ้าขนาดเล็ก รายละเอียดในชุดโคมมีลักษณะคล้ายตัวอักษร C มาพร้อมชุดหลอด LED ดูทันสมัยมีเสน่ห์มากขึ้น อีกทั้งตัวเรือนไฟยังขยายด้านข้างให้เหมือนกับทับเข้าไปเนื้อที่บานประตู นอกจากนี้เพื่อให้เปิดประตูบานท้ายได้ง่ายและสะดวกขึ้น ยังมีการออกแบบให้มีช่องสำหรับยื่นมือเพื่อเข้ากดปุ่มเปิดฝาประตูท้าย ส่วนชายกันชนบริเวณพื้นที่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ดีไซน์ให้เป็นสีเหลี่ยมคางหมูเช่นเดิมแต่หันด้านกว้างลงพื้น ซึ่งรุ่นเดิมด้านกว้างนั้นหันขึ้นบน
มิติตัวรถ แตกต่างจากเดิมชัดเจน กว้าง 1,735 มม.(กว้างขึ้น 40 มม.) ยาว 3,840 มม. (ลดลง 10 มม.) และสูง 1,495 มม. (ต่ำลง 15 มม.) ความยาวฐานล้อมากขึ้น 2,450 มม. (ยาวขึ้น 20 มม.) ส่วนน้ำหนัก 875-910 กก. (ลดลง 65-85 กก.) ส่วนล้อแม็กดีไซน์คล้ายลวดลายคล้ายๆ ใบพัดก้านคู่เล็กสลับใหญ่ ขนาด 16 นิ้ว และยางขนาด 185/55R16 สำหรับรุ่น GLX/GLX-Navi และล้อกระทะขนาด 15 นิ้ว พร้อมยางขนาด 175/65R15 สำหรับรุ่น GA/GL
ห้องโดยสารเรียบง่ายไม่หวือหวาแต่ดูดี
ภายในห้องโดยสาร ของ All New Suzuki SWIFT ชัดเจนว่าดีไซน์ใหม่ทั้งหมดไม่เหลือเค้าโครงเดิม แผงคอนโซลหน้าดูเพรียวและเรียบง่ายกว่ารุ่นเดิม โดยมีการตกแต่งด้วยแถบสีขาวเสมือนเป็นจุดนำสายตา ในขณะที่บริเวณแผงคอนโซลกลางออกแบบให้มีมุมเอียงเข้าหาคนขับ ซึ่งจุดประสงค์ก็เพื่อให้ง่ายต่อการยื่นมือไปควบคุมสวิทช์ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไรเพราะในรถยุโรปหลายๆ แบรนด์ เคยนำรูปแบบดีไซน์นี้มาใช้แล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน
ขยับขึ้นไปที่คอนโซลฝั่งผู้ขับออกแบบให้คอนโซลมีปีกครึ่งวงกลมเล็กๆ คลุมกับกรอบมาตรวัด ส่วนตัวชุดมาตรวัดเองแบ่งเป็น 2 ช่องทรงกลมกรอบสูง ฝั่งซ้ายเป็นความเร็วรอบขวาเป็นระดับความเร็ว พร้อมกับมีการเลือกใช้กรอบสีแดงตัดกับขีดและตัวเลขสีขาวสะท้อน เสมือนเพิ่มอารมณ์สปอร์ตนิดๆ ตรงกลางมีจอ Information Display ขนาดกำลังดีไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป โดยแสดงผลค่าต่างๆ ทั้งอัตราสิ้นเปลือง Real Time หรือแบบเฉลี่ย ระยะทางที่ขับได้ ระยะทางรวม ในขณะที่กรอบช่องแอร์ตรงกลางเปลี่ยนเป็นทรงกลม ส่วนด้านซ้าย-ขวาเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมคางหมูหน้าจั่ว
พวงมาลัยมาในรูปแบบ 3 ก้าน ตรงกลางเป็นทรงกลมพร้อมโลโก้ขนาดใหญ่ โดยตำแหน่งก้านฝั่งซ้ายเป็นสวิทช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และปุ่มเข้าปรับฟังก์ชั่นของจอ MID กลางมาตรวัด ถัดต่ำลงมายังมีสวิทช์เปิดใช้งานบลูทูธและรับสายโทรศัพท์ส่วนก้านฝั่งขวาเป็นสวิทช์ควบคุมระบบครูสคอนโทรล นอกจากนี้พวงมาลัยยังมาในรูปแบบ D-Shape ซึ่งด้านมุมล่างตัดตรง โดยลักษณะแบบนี้ก็เพื่อช่วยไม่ให้ชิดกับต้นขาของผู้ขับจนเกินไป ซึ่งนับเป็นผลดีสำหรับผู้ขับร่างท้วมใหญ่ทีเดียว ส่วนตำแหน่งมุมด้านขวาล่างของคอนโซลหน้ามีสวิตช์ Push start ถัดต่ำลงมาเป็นสวิตช์เปิด-ปิดระบบ TCS และ Idling Stop
อีกหนึ่งไฮไลต์ที่เป็นอีกหนึ่งจุดขายคือ จอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว มาพร้อมฟีเจอร์ที่ผู้ผลิตเรียกว่า Suzuki Smart Connect โดยมีการรวมระบบนำทางกับฟังก์ชั่นการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth เข้าไว้ด้วยกัน พร้อมแอพพลิเคชั่น Apple CarPlay สำหรับ iOS สามารถลิงค์ข้อมูลต่างๆ ได้ ทั้งการฟังเพลง การต่อสายโทรศัพท์หรือค้นหาเบอร์ รวมไปถึงค้นหาเส้นทาง
การใช้งานหน้าจอนับว่าตอบสนองได้ค่อนข้างไว ขณะที่การเลือกเพื่อเข้าถึงฟังก์ชั่นต่างๆ ก็สะดวกไม่ซับซ้อน การเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนสามารถใช้งานผ่านบลูทูธและสายยูเอสบีได้ ส่วนบริเวณใต้คอนโซลกลางมีช่องชาร์จไฟที่เป็นพอร์ตยูเอสบีแค่จุดเดียวเท่านั้น ข้างๆ กันเป็นช่องชาร์จแบบ 12 โวลต์ 120 วัตต์ ส่วนสวิทช์เปิด-ปิดแอร์เป็นทรงกลม 3 ช่อง พร้อมจอควบคุมแบบ LCD ในช่องตรงกลาง นอกจากนี้ยังมีระบบปรับอากาศอัตโนมัติอีกด้วย
สำหรับเบาะนั่งนับว่าดีไซน์ออกมาได้สวยงามทีเดียว เป็นเบาะหุ้มผ้าสีดำสลับกับลวดลายตาไก่บริเวณตรงกลางพนักพิงยาวมาถึงฐานนั่ง โดยในส่วนของเบาะคู่หน้าบรรดาขาซิ่งอาจจะชอบกับตัวปีกที่ยกให้โอบกระชับสรีระผู้ขับขี่ ส่วนผู้ขับร่างใหญ่อาจจะไม่ชอบนักเนื่องจากปีกอาจจะไปค้ำกับสีข้างลำตัว ส่วนเบาะหลังเป็นแบบเรียบๆ แบนๆ ลวดลายเหมือนคู่หน้า และหมอนรองศีรษะสามารถถอดแยกได้ อีกทั้งพนักพิงยังพับปรับได้แบบ 60:40 มีพื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายขนาด 265 ลิตร
ขุมพลังใหม่ ขับสนุกและให้ความประหยัด
เครื่องยนต์ DUALJET เบนซิน 1.2 ลิตร รหัส K12M 4 สูบ DOHC ระบบจ่ายเชื้อเพลิงหัวฉีดคู่ DUALJET ให้กำลังสูงสุด 83แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดที่ 108 นิวตัน-เมตร ที่ 4,400 รอบ/นาที เพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประหยัดน้ำมันกว่าเดิมมากกว่า 23 กม. ต่อลิตร ระบบส่งกำลังกับเกียร์อัตโนมัติ CVT ขับเคลื่อนล้อหน้า รองรับน้ำมันสูงสุด E20 ความจุถังน้ำมัน 37 ลิตร ในส่วนของระบบช่วงล่างคงรูปแบบเดิม แต่มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับรูปแบบตัวรถและลักษณะของถนนในไทยมากขึ้น โดยด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมคอยล์สปริง ส่วนด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีมพร้อมคอยล์สปริง
ทดสอบขับเสมือนใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน
โดยการขับทดสอบครั้งนี้เน้นเสมือนใช้งานจริงในเมืองเป็นหลัก ซึ่งต้องเจอกับสภาพจราจรที่หลากหลาย ทั้งรถติดจอดสนิทนานหลายสิบนาที และเคลื่อนตัวไหลได้เรื่อยๆ หรือพอขยับใช้ความเร็วได้บ้าง 100-120 กม./ชม. พร้อมเปิดแอร์แบบอัตโนมัติ โดยใช้เส้นทางในเมืองและชานเมืองรวมระยะทาง 150 กม.จากการที่มีโอกาสได้สัมผัส All New Suzuki SWIFT เกือบ 1 วันเต็มๆ บอกเลยว่าทำให้สัมผัสกับคาแรคเตอร์รถได้พอสมควร ว่ากันตั้งแต่ทัศนะวิสัยในการขับ เมื่อเทียบกับสรีระของผู้ขับที่รูปร่างเล็ก แต่กลับไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหากับการมองเห็นแต่อย่างใด เนื่องจากกระจกบานหน้าค่อนข้างใหญ่ จึงสามารถเห็นสิ่งแวดล้อมด้านนอกได้เป็นมุมกว้าง บวกกับเสาเอที่ไม่ใหญ่มากนักจึงไม่เกิดเป็นมุมอับสายตาเวลามองด้านข้าง
สำหรับเบาะนั่งความรู้สึกส่วนตัวในคู่หน้าดีไซน์ได้รูปทรงออกมาค่อนข้างดี อีกทั้งการเลือกใช้ลวดลายเรียบๆ สีดำ แต่กลับรู้สึกว่ามีเสน่ห์น่าสนใจ ส่วนท่าทางการนั่งนับว่าสบายไม่อึดอัด ส่วนตัวปีกเบาะถ้าเทียบดับรถคลาสเดียวกันแบรนด์อื่นนับว่าโอบกระชับรับกับสีข้างสูงกว่าแต่ก็อาจมีปัญหากับคนรูปร่างท้วม ส่วนฐานเบาะมีความยาวยื่นไปข้างหน้ารับพอดีกับใต้ท้องขา สำหรับการปรับระดับไม่ว่าสูง-ต่ำ เลื่อนเดินหน้า-ถอยหลัง ก็ยังคงเป็นระบบแมนนวล และเมื่อลองปรับเบาะให้เลื่อนไปชิดด้านหน้าแบบเกือบสุด ก็ไม่รู้สึกว่าเข่าไปชิดหรือเบียดกับแผงใต้คอนโซลหน้า
ตำแหน่ง Head Room กับความสูงของผู้ขับที่น้อยกว่า 170 ซม. เมื่อวัดตำแหน่งจากเพดานถึงกลางศีรษะมีระยะเหลือประมาณ 1 คืบฝ่ามือ วัดโดยไม่มีการปรับตำแหน่งความสูงทั้งสิ้น ในขณะเดียวแผงประตูข้างที่เท้าแขนค่อนข้างสูงไปสักนิด ซึ่งกับคนรูปร่างเล็กอย่างผู้ขับอาจรู้สึกว่าการท้าวแขนไม่ถนัดนักแม้มีการปรับความสูงเบาะแล้วก็ตาม ส่วนคนขับรูปร่างสูงใหญ่สูงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ลองเปลี่ยนมานั่งในตำแหน่งเบาะแถวหลังบ้าง จากรูปเห็นว่าพอว่ามีระยะห่างระหว่างเบาะหน้ากับหัวเข่าอยู่ (เบาะหน้าอยู่ตำแหน่งกลางไม่เลื่อนไปข้างหลัง) แต่ถ้าผู้นั่งด้านหน้ารูปร่างใหญ่และเลือนเบาะล่นถอยหลัง ผู้นั่งแถวสองรู้สึกว่าแออัดอย่างแน่นอน ส่วนฐานเบาะพื้นที่ค่อนข้างสั้นไม่รองรับท้องขาเท่าที่ควร นั่งไกลๆ อาจส่งผลให้เมื่อยล้าได้ สำหรับตำแหน่งความเอียงของเบาะมีองศาค่อนข้างเหมาะสมไม่ตั้งชันเกินไป ทำให้รู้สึกว่าเอนหลังได้อย่างสบาย
มาดูที่ฟิลลิ่งการขับกันบ้าง โดยช่วงแรกเป็นขับในเขตเมือง มีสภาพจราจรติดขัดสลับเคลื่อนตัวได้เรื่อยๆ ระดับความเร็วอยู่ประมาณ 40-80 กม./ชม ความรู้สึกในการขับที่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าแบบชัดเจน โดยเฉพาะความนิ่งและความแน่นของตัวรถ ซึ่งทีมวิศวกรบอกว่านี่คือผลที่เกิดจากการใช้แพลตฟอร์มตัวถังใหม่ ที่ชื่อว่า ‘HEARTECT’ มีคุณสมบัติเด่นคือ ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ มีความแข็งแกร่งและยังมีน้ำหนักที่น้อยกว่าเดิม ที่สำคัญจากการออกแบบยังทำให้ตัวถังต่ำลงและสามารถลดแรงต้านอากาศดีกว่ารุ่นเดิมถึง 10% รวมไปถึงพวงมาลัยที่เปลี่ยนมาใช้แบบ EPS ทำให้รู้สึกชัดถึงน้ำหนักที่เบามือ คมและแม่นยำควบคุมรถได้ง่าย อีกทั้งมีระยะฟรีไม่มากทำการเปลี่ยนช่องทางถนนเพื่อเลี่ยงรถช้ากว่าหรือรถที่กำลังจะยูเทิร์นสามารถทำได้ง่ายและคล่องตัว
เมื่อผ่านเขตตัวเมืองสู่ชานเมือง ในช่วงถนนโล่งๆ ก็สามารถใช้ความเร็วได้มากขึ้น ซึ่งการตอบสนองนับว่าทำได้อย่างรวดเร็วและใช้รอบเครื่องยนต์ไม่สูงมากนัก 90 กม./ชม. 1,700 รอบ/นาที, 100 กม./ชม. 1,800 รอบ/นาที, 110 กม./ชม.2,000 รอบ/นาที และ 120 กม./ชม. 2,200 รอบ/นาที แต่ถ้าต้องการขับแบบสนุกเร้าใจยิ่งขึ้น ก็สามารถปรับโหมดเกียร์เป็นแบบ Sport ได้ (กดปุ่มด้านข้างซ้ายที่คันเกียร์) ซึ่งรอบเครื่องจะตวัดขึ้นมาอยู่ที่ 3,000-4,000 รอบ/นาที ให้กำลังและแรงบิดตอบสนองได้ไวมากขึ้น
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ขุมพลังที่ตอบสนองได้ดีเหลือเชื่อ ซึ่งเมื่อดูจากสเปกพบว่ากระบอกสูบ-ระยะชัก ตัวเลขแรงม้า-แรงบิดนั้นน้อยกว่าเดิม (83 แรงม้า แรงบิด 108 นิวตัน-เมตร) แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ แรงบิดนั้นมาในรอบที่ต่ำกว่ารุ่นเดิมคือช่วง 4,400 รอบ/นาที อีกทั้งกำลังอัดในกระบอกสูบยังมากขึ้น เดิม 11 เป็น 11.5 รวมถึงระบบการจ่ายเชื้อเพลิงมีการพัฒนามาใช้หัวฉีดคู่ DUALJET พร้อมระบบ EGR ช่วยหมุนเวียนไอดีและไอเสียลดมลพิษในอากาศและเผาไหม้ดียิ่งขึ้น ทำให้สมรรถนะที่ถ่ายทอดออกมานั้นตอบสนองได้ค่อนข้างดีทั้งในช่วงความเร็วต่ำและสูง รวมทั้งการไต่ระดับความชันเพื่อขึ้นเขา ก็มีพละกำลังให้เรียกใช้ต่อเนื่องจนผู้ขับลืมนึกไปเลยว่านี่คือเครื่องยนต์อีโคคาร์ ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการใช้ระบบเกียร์ CVT ลูกใหม่ (มีปั๊มไฟฟ้า) ที่ทำงานได้อย่างราบเรียบมีความต่อเนื่อง
ด้านความประหยัดเชื้อเพลิงผลเคลมจากโรงงานระบุไว้ว่าสามารถทำได้ถึง 23.3 กม. ต่อลิตร แต่ในการใช้งานจริงเมื่อต้องเจอสภาวะเส้นทางที่หลากรูปแบบและการจราจรหลายสถานะ บวกกับการขับที่ไม่เน้นสร้างตัวเลขความประหยัด ผลที่ออกมาก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้คือ 15.7 กม. ต่อลิตร
สิ่งที่อดชื่นชมไม่ได้คือระบบช่วงล่าง แม้คงรูปแบบเดิม แม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมคอยล์สปริงในด้านหน้า ส่วนด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีมพร้อมคอยล์สปริง แต่มีการออกแบบใหม่ทังหมดและเซ็ตค่าต่างๆ ให้เหมาะสมกับตัวรถ เรียกว่าใช้ทดแทนกับรุ่นก่อนหน้าไม่ได้เลย ซึ่งประสิทธิภาพการทำงานสามารถยึดเกาะถนนได้ดี โดยเฉพาะทางโค้งต่อเนื่องนับว่าให้ความมั่นใจกับผู้ขับได้ดีพอสมควร ยิ่งเมื่อผสานกับระบบ ESP หรือระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวรถอาการ Understeer (หน้าดื้อ) หรือ Oversteer (ท้ายบาน) ทำให้ผู้ขับสามารถควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้าอยากขับแบบดิบๆ รถออกอาการดื้อๆ ดิ้นๆ หน่อย ก็สามารถปิดการทำงานได้เพียงกดสวิตช์บริเวณฝั่งขวามือค้างไว้ 5 วินาทีระบบก็จะตัดการทำงานทันที (อยู่ด้านล่างของปุ่มสตาร์ท) แต่ขอแนะนำว่าไม่ควรปิดระบบนี้ ปลอดภัยไว้ชัวร์กว่าครับ
ขณะเดียวเมื่อวิ่งบนทางราบแบบยาวๆ ผ่านทั้งคอสะพาน รอยต่อถนน ระบบช่วงล่างสามารถเก็บแรงสะท้อนจากพื้นผิวถนนได้ดีในระดับหนึ่ง และมีอาการย้วยหรือโคลงเคลงเล็กน้อย แต่ในทางตรงกันข้ามอาจรู้สึกได้ว่าช่วงล่างนั้นไม่นุ่มนวลเท่าไหร่นักออกไปในแนวกระด้างมากกว่า แต่รวมๆ นับว่าอยู่เกณฑ์ที่รับได้
ระบบความปลอดภัยบอกเลยว่าแม้เป็นอีโคคาร์ แต่ก็จัดมาให้แบบชุดใหญ่ โดยเฉพาะในรุ่นท็อปและรองท็อป GLX-Navi/GLX ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัย 6จุด บริเวณคู่หน้า ด้านข้างและม่านด้านข้าง รวมไปถึงระบบ Hill Hold control หรือระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน บรรดาสาวๆ หรือนักขับมือใหม่ก็ไม่ต้องกังวลว่ารถจะไหลเวลาติดไฟแดงบนสะพาน นอกจากนี้ก็ยังระบบ ESP ควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวและระบบ TCS ป้องกันล้อหมุนฟรี รวมไปถึงระบบ Idling Stop ดับเครื่องอัตโนมัติ เมื่อรถจอดติดและผู้ขับเหยียบเบรก ซึ่งทั้งหมดมีอยู่ใน All New Suzuki SWIFT คันนี้
All New Suzuki SWIFT มีให้เลือกทั้งหมด 6 สี ได้แก่ Ablaze Red Pearl, Star Silver Metallic, Mineral Gray Metallic, Super Black Pearl และ 2 สีใหม่ คือ Speedy Blue Metallic และ Pure White Pearl และทำตลาด 4 รุ่นย่อย GA CVT 499,000 บาท, GL CVT 536,000 บาท, GLX CVT 609,000 บาท และ GLX-Navi CVT 629,000 บาท
สรุป แบบสั้นๆ กระชับ สำหรับ All New Suzuki SWIFT เจเนอเรชั่นที่ 3 นับเป็นอีโคคาร์ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้ค่อนข้างคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาค่าตัว มาพร้อมรูปลักษณ์ที่สดใหม่ แม้ในบางมุมของดีไซน์อาจจะดูออกไปในแนวๆ น่ารักๆ มากกว่าความสปอร์ตที่ผู้ผลิตชูให้เป็นหนึ่งในจุดขายก็ตาม แต่ก็ไม่ถือว่าหลุดคอนเซปต์ของรถสไตล์นี้ที่ต้องมีความชิคๆ คลูๆ อยู่บ้าง แถมสิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือสมรรถนะในขับขี่ที่จะทำให้คุณลืมไปเลยว่า เฮ้ยนี่มันเครื่อง 1.2 ลิตรเองนะ เพราะขับสนุกเหลือเชื่อ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความประหยัดให้คุณต้องปวดหัวกับค่าน้ำมันที่ปัจจุบันมีแต่ขึ้นราคาแบบรายวัน ส่วนความปลอดภัยก็ติดตั้งมาให้แบบไม่กั๊กเมื่อเทียบกับราคา กับแอร์แบ็คถึง 6 ลูก แถมด้วยระบบ Hill Hold Control ช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน รวมไปถึงระบบ ESP ควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวและระบบ TCS ป้องกันล้อหมุนฟรี ส่วนข้อด้อยก็มีบ้างจุดหลักๆ เรื่องของปีกเบาะคู่หน้าที่ค่อนข้างสูงส่วนเบาะอาจหลังแคบไปสักนิด แต่โดยรวมหากมองถึงคุณสมบัติเด่น ข้อด้อยเหล่านี้ก็แทบไม่ผลใดๆ กับการใช้งานในชีวิตประจำวันเลยสักนิด
รถไฟฟ้าที่น่าสนใจ...
รถยอดนิยม
Mazda 2 ราคาเริ่มต้น 546,000.
Mazda 3 ราคาเริ่มต้น 969,000.
Mazda CX-3 ราคาเริ่มต้น 769,000.
Nissan Almera ราคาเริ่มต้น 499,000.
Nissan Kicks ราคาเริ่มต้น 889,000.
Nissan Navara ราคาเริ่มต้น 599,000.
Honda City ราคาเริ่ม 579,500.
Honda City Hatchback ราคาเริ่ม 599,000.
Honda City e:HEV ราคา 839,000.
Honda Civic ราคาเริ่ม 874,000.
Mitsubishi Triton ราคาเริ่มต้น 539,000.
Mitsubishi Xpander ราคาเริ่มต้น 789,000.
Mitsubishi Pajero Sport ราคาเริ่มต้น 1,299,000.
Toyota Revo ราคาเริ่มต้น 544,000.
Toyota Yaris ATIV 4 ประตู ราคาเริ่มต้น 529,000.
Toyota Yaris 5 ประตู ราคาเริ่มต้น 539,000.
Toyota Corolla Cross ราคาเริ่มต้น 989,000.
Toyota Fortuner ราคาเริ่มต้น 1,319,000.
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " รีวิว All New Suzuki SWIFT GLX-Navi CVT กะทัดรัด สมรรถนะดี ขับขี่สนุก "