TEST DRIVE : รีวิว TOYOTA C-HR 1.8 Mid สมรรถนะขับสนุก ช่วงล่างให้ความมั่นใจ ดีไซน์ฉีกแนว
จากแนวคิดที่ท้าทายการพัฒนายนตรกรรมให้ดียิ่งกว่าของโตโยต้า (Ever-better Cars) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ ‘ยานพาหนะ’ แห่งความสมบูรณ์แบบ โดยโตโยต้ามุ่งเน้นพัฒนาใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ ความประณีตของการออกแบบภายนอก เพื่อดีไซน์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ (Emphasized Personality) และความแข็งแกร่งของโครงสร้างภายในที่ทำงานประสานกัน เพื่อการขับขี่ที่เหนือระดับ (Core Strength) โดยนำมาผสมผสานกันและถ่ายทอดออกมาเป็นสถาปัตยกรรมโครงสร้างยานยนต์ใหม่ TNGA-Toyota New Global Architecture
TOYOTA C-HR (Coupe High Rider) รถยนต์ครอสโอเวอร์ใหม่ล่าสุด ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอกย้ำแนวคิด Ever-better Cars (การสร้างยนตกรรมที่ดียิ่งกว่า) ด้วยดีไซน์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงของเพชร ทำให้รูปลักษณ์ของ C-HR มีความเป็นเอกลักษณ์ สปอร์ต เฉียบคม โดดเด่น และเพียบพร้อมไปด้วย 4 เทคโนโลยีใหม่ เครื่องยนต์ระบบไฮบริดเจเนอเรชั่นใหม่ โครงสร้าง TNGA, Toyota Safety Sense และ Telematics ที่สำคัญ Toyota C-HR ยังผสมผสานความอเนกประสงค์ของตัวรถเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และสร้างประสบการณ์ใหม่ในการขับขี่ที่สนุกสนานและประทับใจ
โครงสร้างยานยนต์ใหม่ TNGA ถูกพัฒนาและออกแบบให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีความแข็งแรงและมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ ทำให้ตอบสนองต่อการขับขี่ที่ดีเยี่ยม การควบคุมบังคับรถที่แม่นยำ นุ่มนวลทุกสภาพถนน รวมถึงทัศนะวิสัยการขับขี่ที่ดีกว่า ตลอดจนรูปลักษณ์ที่สวยงาม ซึ่งโตโยต้าได้นำสถาปัตยกรรมโครงสร้างใหม่นี้มาใช้ใน Toyota C-HR เป็นรุ่นแรก และจะนำมาใช้กับรถยนต์โตโยต้ารุ่นต่อๆ ไปในอนาคต โดยการออกแบบโครงสร้างใหม่ดังนี้
– Body rigidity เพิ่มความมั่นคงของรถจากโครงสร้างเหล็กที่แข็งแกร่ง พร้อมเพิ่มจำนวนจุดเชื่อมตัวถัง (Spot welding) ช่วยรองรับแรงบิดที่มีต่อตัวถัง เพิ่มประสิทธิภาพในการทรงตัวและเกาะถนนมากยิ่งขึ้น
– Low center of gravity จุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ทำให้ลดการโคลงตัวของรถ รวมทั้งช่วยเรื่องการทรงตัวและการเข้าโค้งดีขึ้น
– Double Wishbone Suspension ช่วงล่างด้านหลังแบบอิสระปีกนกคู่ เพิ่มความนุ่มนวลในการขับขี่ แต่ยังคงไว้ซึ่งการเกาะถนนที่ดีเยี่ยม (อย่างไรก็ดีระบบช่วงล่างไม่จำเป็นต้องใช้แบบปีกนกเสมอไป ทีมวิศวกรสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับรุ่นนั้นๆ ได้)
– Good Handling พวงมาลัยมีการปรับอัตราทดและ ECU ใหม่ ทำให้การตอบสนอง แม่นยำมากขึ้น เพื่อให้การควบคุมรถง่ายเป็นไปอย่างมั่นใจ
– STABILITY จากโครงสร้างตัวถังที่มีความแข็งแรง ทำให้การควบคุมจากพวงมาลัยมีความแม่นยำ เกาะถนนได้ดีเยี่ยม เข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้ด้วยช่วงล่างอิสระแบบ Double wishbone ยังช่วยเพิ่มความนุ่มนวลในการขับขี่
– AGILITY ความคล่องตัวในทุกจังหวะการขับขี่ และการควบคุมได้ดั่งใจ เกิดจากการที่ตัวรถถูกออกแบบให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ส่งผลให้การขับขี่ ที่สนุกมากขึ้น และสามารถขับลัดเลาะไปตามซอกซอยได้อย่างคล่องตัว
– VISIBILITY จากการออกแบบให้ผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลางของรถ พร้อมเพิ่มทัศนะวิสัย และการลดจุดอับสายตาภายในห้องโดยสาร ด้วยการปรับกระจกด้านหน้าคนขับให้กว้างขึ้น และลดขนาดเสา เอ (A Pillar) ทั้ง 2 ด้านให้แคบลง ส่งผลให้ผู้ขับขี่สามารถมองวัตถุในมุมอับได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
– COMFORT โครงสร้างรูปแบบใหม่และช่วงล่างที่อิสระ สามารถลดแรงกระแทกจากพื้นถนนสู่ผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความความนุ่มนวลทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ไม่เมื่อยล้าในการขับขี่ เพลิดเพลินในทุกการเดินทาง
รูปลักษณ์ภายนอก ดีไซน์ของ C-HR (รุ่นก่อนไมเนอร์เช้นจ์) นับว่าฉีกรูปแบบครอสโอเวอร์ได้อย่างชัดเจน โดดเด่นนำสายตาด้วยไฟหน้าที่ออกแบบได้ล้ำสมัย เส้นสายลื่นไหลรวมเป็นหนึ่งเดียวที่กลางกระจังหน้าซึ่งเป็นโลโก้ Toyota อย่างลงตัว
โดยในรุ่น 1.8 เบนซิน ทั้ง 2 รุ่นย่อยนั้นเป็นแบบ Projector หลอด Halogen พร้อม Daytime Running Light แบบ LED ส่วนรุ่น 1.8 Hybrid ทั้ง 2 รุ่นย่อย ไฟหน้ามาในรูปแบบของ Projector Full LED และ LED Daytime Running Lights แบบ Light Guiding ถัดลงมาบริเวณกันชนเป็นลายรังผึ้งสีดำ ขนาบข้างด้วยไฟตัดหมอกทรงกลมที่มุมซ้าย-ขวา ส่วนกระจกมองข้างฝังไฟเลี้ยวแบบ LED สามารถปรับไฟฟ้าและพับเก็บได้อัตโนมัติ (ทุกรุ่นย่อย)
ส่วนด้านข้างบริเวณขอบกระจกประตู รุ่น 1.8 Mid และ Hybrid 1.8 ลิตร คิ้วขอบกระจกประตูทั้ง 4 บานนั้นเป็นแบบโครเมียม (รุ่น 1.8 Entry เป็นสีดำ) ส่วนบริเวณเสาประตูคู่กลางประกบด้วยวัสดุพลาสติกสีดำเงาแบบ Piano Black (รุ่น 1.8 Entry เป็นสีดำ)
นอกจากนี้ยังติดบังโคลนซุ้มล้อเพื่อเพิ่มความดุดันยิ่งขึ้น ทั้งด้านหน้าและหลัง (รุ่น 1.8 Entry มีเฉพาะด้านหน้าเท่านั้น) ขณะเดียวกันไฟท้ายรุ่นเบนซิน 1.8 ลิตร ทั้ง Mid และ Entry นั้นเป็นแบบ LED ยกเว้นรุ่น Hybrid ที่เป็นแบบ Full LED รมดำ
ส่วนเสาอากาศเป็นแบบครีบฉลาม และสปอยเลอร์หลังสีเดียวกับตัวรถพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ถัดต่ำลงมายังมีไฟตัดหมอกหลังบริเวณตรงกลางของชายกันชน
โดยทุกรุ่นย่อย มาพร้อมล้อแม็กดีไซน์ลาย 5 ก้าน ขนาด 17 นิ้ว รัดยาง Dunlop ENASAVE ขนาด 215/50 R17 (รุ่นใหม่แบบไมเนอร์เช้นจ์ล้อแม็กจะเป็นดีไซน์ใหม่ลายตัววายสีทูโทน)
มิติตัวถัง ยาว 4,360 มม. กว้าง 1,795 มม. สูง 1,565 มม. ระยะฐานล้อ 2,640 มม. ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง 1,550 / 1,570 มม. ความสูงจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 154 มม.
ภายในห้องโดยสาร โทนสีในห้องโดยสารเป็นธีมแบบทูโทนดำ-น้ำตาล ยกเว้นรุ่น 1.8 Entry เป็นสีดำล้วน ส่วนบริเวณคอนโซลหน้าตกแต่งด้วยวัสดุหุ้มสีน้ำตาลผสานด้วยแถบพลาสติกสีเงิน
ตรงกลางเป็นชุดเครื่องเสียง DVD หน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว ซึ่งดีไซน์ให้ยกลอยขึ้นมาจากแผงคอนโซล มาพร้อมช่องเชื่อมต่อ USB/HDMI/Micro SD Card และระบบเชื่อมต่อ Bluetooth ลำโพง 6 ตำแหน่ง
ถัดต่ำลงมาเป็นระบบปรับอากาศอัตโนมัติ แบบ Dual Zone ปรับอุณหภูมิบริเวณที่นั่งผู้โดยสารด้าน ซ้าย-ขวา อย่างอิสระ
คอนโซลเกียร์บริเวณฐานถูกครอบด้วยพลาสติกแบบ Piano Black หัวเกียร์เป็นสีเงิน ถัดมาลงมาเป็นสวิตช์เบรกมือไฟฟ้า พร้อมสวิทช์ระบบ Auto Brake Hold ซึ่งเมื่อกดใช้งานจะทำหน้าที่ล็อกเบรกมือไว้ชั่วขณะ จะทำงานต่อเมื่อขับรถไปปกติ แล้วเหยียบเบรกจนรถหยุดนิ่ง หากปล่อยเท้าจากแป้นเบรก ระบบก็จะเบรกรถให้อัตโนมัติ และเมื่อต้องการให้รถเคลื่อนไปก็เพียงเหยียบคันเร่ง ระบบก็จะปลดเบรกให้โดยอัตโนมัติเช่นกัน
ชุดมาตรวัดเป็นแบบ Optitron ดีไซน์เป็นวงกลม 2 ช่อง ฝั่งซ้ายเป็นวัดรอบเครื่องและอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น ฝั่งขวาเป็นระดับความเร็วและปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง ตรงกลางเป็นจอ Multi Information Display แบบ TFT ขนาด 4.2 นิ้ว แสดงข้อมูลการขับขี่ไม่ว่าจะเป็น อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง โหมดกับขับขี่แบบการขับแบบ Sport/ECO ระยะทางขับขี่ ส่วนพวงมาลัยดีไซน์แบบ 3 ก้าน พร้อมสวิตช์มัลติฟังก์ชัน ควบคุมเครื่องเสียงและจอข้อมูลการขับขี่ที่ก้านพวงมาลัย
สำหรับเบาะนั่ง หุ้มด้วยหนังและวัสดุสังเคราะห์ (รุ่น 1.8 Entry หุ้มด้วยผ้า) คู่หน้าดีไซน์ให้อารมณ์สไตล์สปอร์ตคล้ายบักเก็ตซีท โดยฝั่งคนขับปรับระดับด้วยมือ 6 ทิศทาง (เลื่อนเดินหน้า-ถอยหลัง ปรับพนักพิง และระดับสูง–ต่ำ) แบบแมนนวลมือโยก พร้อมสวิตช์ปรับดันหลังด้วยระบบไฟฟ้า
ซึ่งความสะดวกสบายหลังได้ลองนั่ง รู้สึกว่าฐานเบาะค่อนข้างสั้น เมื่อนั่งลงไปก็ทำให้ใต้ท้องขาลอย และยื่นออกมาจากตัวฐานเบาะพอสมควร
ส่วนพนักพิงสำหรับคนที่ชอบแบบกระชับรับกับสรีระบอกเลยว่าต้องชื่นชอบ เข้าโค้งแรงๆ พอที่จะล็อคกับลำตัวได้อย่างพอดี แต่คนรูปร่างใหญ่อาจรู้สึกว่าอึดอัดไปสักนิด ส่วนเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง-ต่ำได้
สำหรับรายละเอียดในเบาะนั่งแถวหลัง ทันเมื่อเปิดประตูและมองเข้าไปก็แอบลุ้นว่ารู้สึกว่าต้องแคบแน่ๆ ซึ่งหลังได้ลองเข้าไปนั่งแล้วก็รู้สึกว่ามีความอึดอัดที่เกิดจากมุมท้ายของบานประตูนั้นตวัดสูงขึ้นจนทำให้บานกระจกดูแคบ ยิ่งคนรูปร่างเล็กเหมือนกับนั่งโดยมีกำแพงสูงตั้งอยู่อย่างข้างๆ
ในขณะที่ตัวเบาะเห็นได้ชัดว่าฐานเบาะค่อนข้างสั้น แถมไม่มีเนินขึ้นมาล็อกตำแหน่งคนนั่ง ดังนั้นเวลาเข้าโค้งหรือเลี้ยวแรงๆ คนนั่งอาจไถลไปมาได้ แต่ข้อดีก็คือเวลานั่ง 3 คนก็ให้ความสบายเพราะเบาะไม่นูนมาดันก้น
ส่วนตัวพนักพิงองศาความเอียงกำลังพอดีนั่งสบายไม่เมื่อหลัง ต่อมาตำแหน่งบริเวณหัวเข่าก็ถึงไม่ติดกับด้านหลังของเบาะหน้า เช่นเดียวกับระยะเฮดรูมคนที่สูงไม่ถึง 170 ยังมีพื้นที่ช่องว่างเหลืออีกเกือบ 2 ฝ่ามือแนวนอนทีเดียว รวมๆ แล้วเบาะหลังก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี่เหร่อะไรนัก
นอกจากนี้เข็มขัดนิรภัยด้านหลังยังเป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX และสามารถแยกพับปรับได้แบบ 60:40 ช่วยให้สามารถเก็บสัมภาระหรือสิ่งของยาวๆ ได้อย่างสะดวก
ส่วนด้านท้ายดีไซน์จะลาดเอียงลง หลายคนอาจกังวลว่าพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระจะเพียงพอหรือไม่ แต่เมื่อเปิดฝาท้ายพบว่ามีขนาดความจุถึง 377 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี ซึ่งก็สามารถเก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ได้อย่างเหลือเฟือ และเมื่อเปิดจากฐานรองขึ้นมาก็มีชุดซ่อมยางฉุกเฉินมาให้จากโรงงาน
เครื่องยนต์ รหัส 2ZR-FXE 4 สูบ 1,798 ซีซี แถวเรียง DOHC 16 วาล์ว ความกว้างกระบอกสูบx ระยะชัก 80.5 x 88.3 มม. อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 กำลังสูงสุด 103 กิโลวัตต์ (140 แรงม้า) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 175 นิวตัน-เมตร (17.8 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที
มาพร้อมโหมดการขับแบบ Sport และ ECO ให้เลือก ระบบเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i 7 จังหวะ พร้อม Sequential Shift และ Shift Lock อัตราทดเกียร์ 2.480 – 0.396 อัตราทดเกียร์ถอยหลัง 2.604 – 1.680 อัตราทดเฟืองท้าย 5.698 พวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้า (EPS) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.2 ม. ความจุถังน้ำมัน 50 ลิตร (รุ่นไฮบริด 43 ลิตร)
ในส่วนของสมรรถนะกับการใช้งานทั่วไป การตอบสนองรวมๆ นับว่าไม่อืด แต่ก็ไม่ถึงแรงแบบพุ่งกระฉุดกดคันเร่งหนักแล้วหลังติดเบาะ ความกระฉับกระเฉงมีให้แบบพอประมาณ เรี่ยวแรงระดับ 140 แรงม้า นับว่าตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างพอเพียง โดยเฉพาะเมื่อความเร็วลอยตัวไปแตะ 100 กม./ชม. แล้ว
หากต้องการเติมคันเร่งเพื่อเพิ่มความเร็วไปแตะ 120-140 กม/ชม. เข็มไมล์ยังกวาดขึ้นได้แบบลื่นไหล รวมถึงการตัดต่อของระบบเกียร์ก็ทำได้ค่อนข้างต่อเนื่องและนุ่มนวลตามคาแรคเตอร์ของ CVT
แต่ถ้าต้องการขยับไปถึง 160-180 กม./ชม. ก็จะออกอาการหน่วงๆ ไปสักหน่อย สำหรับอัตราความสิ้นเปลืองการคำนวณผ่านจอบนรถกับระยะทาง 420 กม. ตัวเลขอยู่ 13.2 กม./ลิตร
ความเร็วและรอบเครื่องยนต์
90 กม./ชม. 1,500 รอบ/นาที
100 กม./ชม. 1,750 รอบ/นาที
110 กม./ชม. 1,800 รอบ/นาที
120 กม./ชม. 2,000 รอบ/นาที
ครบครันด้วยระบบความปลอดภัยมาตรฐาน ประกอบด้วย
– ถุงลมเสริมความปลอดภัย ระบบ SRS (คู่หน้า-ด้านข้าง-ม่านด้านข้าง-หัวเข่าฝั่งคนขับ)
– กล้องมองภาพขณะถอยหลัง (ทุกรุ่น) แสดงผลผ่านจอมอนิเตอร์ รวมทั้งเซ็นเซอร์กะระยะรอบคัน
– ระบบแจ้งเตือนลมยาง (TPMS) สัญญาณเตือนกะระยะด้านหน้า-ท้าย และที่มุมกันชน 8 จุด
– สัญญาณเตือนการโจรกรรม TDS
– ระบบป้องกันล้อล็อก ABS
– ระบบกระจายแรงเบรก EBD
– ระบบเสริมแรงเบรก BA
– ระบบควบคุมการทรงตัว VSC
– ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC
– ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน HAC
ระบบช่วงล่าง ด้านหน้ามาในรูปแบบของอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท-เหล็กกันโคลง ด้านหลังอิสระแบบปีกนกคู่ (Double Wishbone) พร้อมเหล็กกันโคลง ซึ่งหลังจากขับเป็นระยะทาง 420 กม.ก็สัมผัสได้ประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจนว่าช่วงล่างอิสระแบบ Double wishbone ช่วยให้การเข้าโค้งสามารถทำได้อย่างสนุก ตลอดจนเกาะถนนและทรงตัวได้อย่างมั่นใจทีเดียว ในขณะเดียวกันเมื่อขับขี่บนทางโค้งกว้างๆ ด้วยจุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity) ที่ต่ำลง ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบชิ้นส่วนให้ต่ำลง ทั้งในส่วนของเครื่องยนต์และเกียร์ ก็ยิ่งส่งผลให้ตัวรถนิ่ง มีเสถียรภาพ ไม่เหวี่ยงหรือโคลง แม้เข้าโค้งในความเร็วสูง
นอกจากนี้ก็ยังช่วงล่างให้ความนุ่มนวลกำลังดี อาจไม่นิ่มถึงขั้นรถซีดานแต่ก็ไม่แข็งกระด้างจนตัวกระเด้งกระดอน เมื่อขับรูดผ่านคอสะพานที่มีความชัน ผิวทางขรุขระ และลูกระนาด ระบบช่วงล่างอิสระแบบก็สามารถดูดซับแรงกระแทกจากพื้นถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบเบรก ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน ส่วนด้านหลังดิสก์เบรก การทำงานนับว่าค่อนข้างลงตัว ไม่จับเร็วจนหัวทิ่มหัวตำหรือจับช้าจนเกินไปจนต้องกดแป้นเบรกหนัก กดเท่าไรการหยุดยั้งหรือชะลอความเร็วก็ทำงานได้แทบจะใกล้เคียงน้ำหนักเท้า
สำหรับความคล่องตัวในการใช้งาน โดยเฉพาะในเขตเมืองซึ่งมีสภาพจราจรคับคั่งหรือการขับตามตรอกซอกซอย ค่อนข้างมีความสะดวก ซึ่งไม่เพียงด้วยขนาดรถที่กะทัดรัดแล้ว ก็ยังเป็นผลมาจากวงเลี้ยวแคบ (5.2 ม.) และน้ำหนักพวงมาลัยที่เบามือในระดับหนึ่ง และหน่วงมือกำลังดีเมื่อใช้ความเร็ว
รวมไปถึงทัศนะวิสัยของผู้ขับขี่ในจุดอับสายตา โดยเฉพาะบริเวณมุมด้านหน้าฝากระโปรงและกระจกมองข้างกับเสาเอ (A Pillar) ที่เป็นจุดบอดก็ถูกดีไซน์ให้สามารถเห็นอุปสรรคด้านหน้า และด้านข้างได้อย่างชัดเจน
แต่อย่างไรก็ตามสำหรับมุมมองด้านหลัง (C Pillar) จุดนี้อาจเป็นปัญหาของ C-HR เพราะถูกดีไซน์ให้ลาดต่ำแถมบานกระจกยังแคบ และมุมของบานประตูหลังที่ตวัดสูงขึ้นเพื่อรับกับบานกระจกและแก้มท้าย ก็มีส่วนที่ทำให้การมองผ่านกระจกหลังไม่ถนัดตาเท่าที่ควร แถมในรุ่น 1.8 Mid และ 1.8 Entry ไม่มีระบบเรดาห์มองภาพจากด้านข้างรถ BSM (Blind Spot Monitoring) มาให้ ดังนั้นการเปลี่ยนเลนแต่ละครั้งต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นอย่างมากทีเดียว
ราคาจำหน่าย TOYOTA C-HR 4 รุ่น
1.8 Entry ราคา 979,000 บาท***
1.8 Mid ราคา 1,039,000 บาท***
HV Mid ราคา 1,069,000 บาท*** (รุ่นที่นำมารีวิว)
HV Hi ราคา 1,159,000 บาท***
***ราคาดังกล่าวเป็นราคารถยนต์พร้อมอุปกรณ์มาตรฐานที่ผลิตจากโรงงาน รวมราคาเครื่องปรับอากาศและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
TOYOTA C-HR มีให้เลือก 7 สี สำหรับรุ่นไฮบริด
– Premium Red/Black Roof
– Blue Metallic/Black Roof
– Radiant Green Metallic/Black Roof
– White Pearl Crystal/ Black Roof
– White Pearl Crystal
– Metal Stream Metallic
– Attitude Black Mica
และ 4 สี สำหรับรุ่น 1.8
– White Pearl Crystal/ Black Roof
– White Pearl Crystal
– Metal Stream Metallic
– Attitude Black Mica
สีพิเศษสำหรับรุ่นไฮบริด ได้แก่
– Premium Red
– Blue Metallic
– Radiant Green Metallic พร้อมหลังคาสีดำ
และสี White Pearl Crystal เพิ่ม 10,000 บาท
สี White Pearl Crystal พร้อมหลังคาสีดำ เพิ่ม 15,000 บาท
สรุป : TOYOTA C-HR 1.8 Mid นับเป็นยนตรกรรมครอสโอเวอร์ที่ค่อนข้างตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้ยุคใหม่ โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ที่ดูทันสมัยฉีกแนว ผสานกับโครงสร้าง TNGA ที่ถูกพัฒนาและออกแบบให้มีความแข็งแรง มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ จึงช่วยตอบสนองต่อการขับขี่ได้สนุกและมั่นใจยิ่งขึ้น ให้การควบคุมบังคับรถค่อนข้างแม่นยำ อีกทั้งสมรรถนะของเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร สามารถรองรับการใช้งานทั้งในเมืองและการเดินทางไกลได้อย่างเพียงพอ ส่วนระบบความปลอดภัยมาตรฐานก็มีมาให้แบบพอประมาณ กับราคา 1,069,000 บาท ก็นับเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่จะดีกว่านี้ถ้าติดตั้งเทคโนโลยีระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง BSM เพิ่มเข้ามาด้วย
สิ่งที่ยากให้ปรับปรุง : มุมประตูบานหลังสูง-กระจกบนหลังแคบ ทำให้มองเห็นไม่ถนัด ฐานเบาะสั้น
สิ่งที่อยากให้มี : ซันรูฟ, ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง BSM
ขอขอบคุณ : บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
รถไฟฟ้าที่น่าสนใจ...
รถยอดนิยม
Mazda 2 ราคาเริ่มต้น 546,000.
Mazda 3 ราคาเริ่มต้น 969,000.
Mazda CX-3 ราคาเริ่มต้น 769,000.
Nissan Almera ราคาเริ่มต้น 499,000.
Nissan Kicks ราคาเริ่มต้น 889,000.
Nissan Navara ราคาเริ่มต้น 599,000.
Honda City ราคาเริ่ม 579,500.
Honda City Hatchback ราคาเริ่ม 599,000.
Honda City e:HEV ราคา 839,000.
Honda Civic ราคาเริ่ม 874,000.
Mitsubishi Triton ราคาเริ่มต้น 539,000.
Mitsubishi Xpander ราคาเริ่มต้น 789,000.
Mitsubishi Pajero Sport ราคาเริ่มต้น 1,299,000.
Toyota Revo ราคาเริ่มต้น 544,000.
Toyota Yaris ATIV 4 ประตู ราคาเริ่มต้น 529,000.
Toyota Yaris 5 ประตู ราคาเริ่มต้น 539,000.
Toyota Corolla Cross ราคาเริ่มต้น 989,000.
Toyota Fortuner ราคาเริ่มต้น 1,319,000.
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " TEST DRIVE : รีวิว TOYOTA C-HR 1.8 Mid สมรรถนะขับสนุก ช่วงล่างให้ความมั่นใจ ดีไซน์ฉีกแนว "