
GROUP TEST : รีวิว NEW FORD RANGER 2018 สัมผัสใหม่กับขุมพลัง Bi-TURBO 213 แรงม้า
หลังจากฟอร์ดประเทศไทย เปิดตัว NEW FORD RANGER ไปเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ล่าสุดช่วงต้นเดือนสิงหาคมได้จัดกิจกรรมให้สื่อมวลชนร่วมพิสูจน์กับสมรรถนะของขุมพลังใหม่ พร้อมสัมผัสกับเทคโนโลยีความปลอดภัยและฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวกที่ติดตั้งมาให้แบบครบครัน ด้วยรถ 3 รุ่นย่อยคือ Limited, Wildtrak Hi-Rider และ Wildtrak 4×4 บนเส้นทางเหนือสุดแดนสยามจังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 380 กม.
รูปลักษณ์ภายนอก รายละเอียดภาพรวมของ New FORD RANGER มองเผินๆ อาจเหมือนไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไรนัก แต่หากสังเกตพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายจุด โดยที่กระจังหน้ามีการออกแบบใหม่ซึ่งคาดทับด้วยซี่แนวนอนสองแถว (สีเทาสำหรับรุ่น Wildtrack และโครเมี่ยมในรุ่น Limited) ส่วนกันชนล่างปรับช่องนำอากาศให้กว้างขึ้น มาพร้อมไฟเดย์ไทม์รันนิ่งไลท์แบบ LED และไฟหน้าแบบ HID รวมไปถึงไฟตัดหมอกแบบ LED (รุ่น Wildtrack) เพื่อทัศนะวิสัยที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้รุ่น Wildtrak ยังมีจุดบ่งบอกความเป็นรุ่นท็อปที่แก้มด้วยสัญลักษณ์ Bi-Turbo มาพร้อมสีภายนอกใหม่เฉพาะรุ่น ‘เซเบรอ’ สีส้มประกายบลอนด์ซึ่งมีสีอ่อนกว่าเดิม ด้านท้ายกระบะติดสปอร์ตบาร์เพิ่มความแกร่ง
นอกจากยังเสริมความสะดวกสบายด้วยฝาท้ายระบบผ่อนแรง (Easy Lift Tailgate) ด้วยกลไกซึ่งช่วยผ่อนแรงของผู้ใช้ลง 70% ช่วยให้เปิดปิดฝากระบะท้ายง่ายดายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น ส่วนล้อแม็กใช้ขนาด 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/60 R18
ภายในห้องโดยสาร New FORD RANGER ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองทุกการใช้งาน ทั้งในวันทำงานที่หนักหน่วง การเดินทางไกลในช่วงสุดสัปดาห์หรือการผจญภัยแบบออฟโรด รายละเอียดภายในเกือบทั้งหมดรวมถึงแผงประตูเลือกใช้วัสดุตกแต่งโทนสีดำ
สำหรับรุ่น Wildtrack ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการเดินตะเข็บด้วยด้ายสีส้มเกือบทั้งคัน
รวมทั้งหัวเกียร์มีการเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ เพื่อรองรับกับ Manual Mode ของเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ พร้อมพื้นผิววัสดุตรงจุดสัมผัสที่ทนทานเพื่อคุณภาพการใช้งานที่ยาวนานขึ้น
ส่วนตรงกลางแดชบอร์ดเป็นจอทัชสกรีนแบบฟูลคัลเลอร์ ขนาด 8.0 นิ้ว เพิ่มระบบซิงค์ 3 (SYNC 3) รองรับ Apple Carplay และ Andriod Auto พร้อมบลูทูธและกล้องมองหลัง ผู้ขับขี่ยังสามารถใช้งาน Apple Maps และระบบแผนที่นำทางด้วยดาวเทียมซึ่งติดตั้งมากับรถเมื่อออกนอกพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ นอกจากนี้ระบบซิงค์ 3 ยังมาพร้อมระบบจดจำเสียงและระบบสั่งงานเสียงด้วยภาษาไทยเพื่อการใช้งานที่คล่องตัวยิ่งขึ้น รวมถึงระบบนำทาง Navigation ให้ความสบายขณะเดินทาง โดยเพิ่มระบบตัดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร (Active Noise Cancellation) ในรุ่น Wildtrak ขับเคลื่อน 4 ล้ออีกด้วย
ระบบซิงค์ 3 ยังครอบคลุมไปถึงระบบช่วยโทรฉุกเฉิน (Emergency Assistance) ซึ่งจะทำงานผ่านโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อผ่านบลูทูธภายในรถ เพื่อติดต่อไปยังหมายเลข 1669 ในกรณีเกิดอุบัติเหตุจนถุงลมนิรภัยทำงานหรือระบบตัดการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบช่วยโทรฉุกเฉินนี้จะติดตั้งมากับรถฟอร์ด เรนเจอร์ใหม่ทุกคันที่ใช้ระบบซิงค์ 3 รวมทั้งเพิ่มกุญแจอัจฉริยะ (PEPS) และปุ่มสตาร์ทรถอัตโนมัติเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรุ่น Limited และรุ่น Wildtrak
อุปกรณ์ภายในรุ่น Limited
– กุญแจรีโมทอัจฉริยะพร้อมปุ่มสตาร์ทรถอัตโนมัติ
– ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยกอิสระซ้าย-ขวา
– คอนโซลทำความเย็น Cool Box
– ระบบกุญแจ My Key
– หน้าจอข้อมูลบนหน้าปัดแบบสี ขนาด 2 นิ้ว 2 จอ
– ระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC™3 ภาษาไทย
– จอสีแบบสัมผัส Multi-Touch ขนาด 8 นิ้ว
– รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto
อุปกรณ์ภายในรุ่น Wildtrack
– กุญแจรีโมทอัจฉริยะพร้อมปุ่มสตาร์ทรถอัตโนมัติ
– ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยกอิสระซ้าย-ขวา
– คอนโซลทำความเย็น Cool Box
– ระบบกุญแจ My Key
– หน้าจอข้อมูลบนหน้าปัดแบบสี ขนาด 2 นิ้ว 2 จอ
– ระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC™3 ภาษาไทย
– จอสีแบบสัมผัส Multi-Touch ขนาด 8 นิ้ว
– รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto
– ไฟตกแต่งห้องโดยสาร Ambient light
– ช่องต่อไฟ 230V
– ปรับเบาะที่นั่งคนขับแบบไฟฟ้า 8 ทิศทาง
– ชุดตกแต่งภายในแบบไวล์ดแทรค
– ระบบนำทาง Navigation
– ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (เฉพาะรุ่น 4×4)
ด้านระบบความปลอดภัย New FORD RANGER ในรุ่น Wildtrack นับว่าติดตั้งมาให้แบบจัดเต็ม ทั้งระบบเตือนการชน (Pre-Collision Assist) ที่ผสานระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติพร้อมระบบตรวจจับคนเดินถนน (AEB) และระบบตรวจจับยานพาหนะ (Vehicle Detection) เป็นครั้งแรกในตลาดรถกระบะ ระบบนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อตรวจจับคนเดินถนนและยานพาหนะด้านหน้า พร้อมทำการช่วยเบรกจนหยุดนิ่งเมื่อระบบพบว่าคนขับไม่สามารถตอบสนองได้ทัน ช่วยลดอัตราการชนท้ายและการชนคนเดินถนนลง โดยระบบนี้จะทำงานเมื่อใช้ความเร็วสูงกว่า 3.6 กม./ชม. ขึ้นไป
ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System) และระบบแจ้งเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกจากเลน (Lane Departure Warning) รวมถึงระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) พร้อมระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System)
รวมไปถึงกล้องมองหลังขณะถอยจอด ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP และระบบป้องกันล้อหมุนฟรี Traction Control ระบบช่วยการออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัน (HLA) ระบบช่วยการทรงตัวขณะลากจูง (TSC) และระบบลดความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ
ขุมพลัง New FORD RANGER ในรุ่น Limited และ Wildtrak Hi-Rider มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซลใหม่ 2.0 ลิตร เทอร์โบเดี่ยว ส่วนรุ่น Wildtrak 4×4 มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซลใหม่ 2.0 ลิตร Bi-Turbo โดยทั้ง 2 เครื่องยนต์ยังมาพร้อมเทคโนโลยีทันสมัยอื่นๆ มากมายเช่น สายพานไทม์มิ่งแบบจุ่มในน้ำมันเครื่อง (รุ่นเครื่องยนต์เดิมเป็นโซ่) ทำให้มีเสียงเบาลงและทำงานได้นุ่มนวลขึ้น
– ฝาครอบคอมเพรสเซอร์ระบายความร้อนด้วยน้ำ
– ลูกสูบอะลูมิเนียมมีการหล่อซ้ำที่ขอบแอ่งหัวลูกสูบ
– หัวฉีด Piezo 8 รู
– แรงดันน้ำมัน 2,200 บาร์
– ฝาครอบเครื่องผลิตจากโฟมช่วยลดเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือน
รุ่น Wildtrak 4×4 เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร Bi-Turbo มีจุดเด่นคือการทำงานของชุดเทอร์โบที่เป็นระบบ Sequential Turbo ซึ่งผสานการทำงานของเทอร์โบ 2 ตัว ตัวแรกเป็นแบบเทอร์โบแปรผัน ทำงานช่วงออกตัวช่วยเร่งการตอบสนองของคันเร่งและลดช่วงการรอรอบ ช่วยให้เครื่องยนต์มีแรงบิดและแรงม้าแม้ตอนใช้ความเร็วต่ำ และทั้ง 2 ตัวทำงานร่วมกันช่วงรอบเครื่อง 1,800-3,000 รอบ/นาที และหลังจากรอบเครื่องเกิน 3,000 รอบ/นาที เทอร์โบตัวที่ 2 ซึ่งเป็นแบบ Fixed-geometry ก็จะทำหน้าที่ต่อเพียงตัวเดียว เพื่อเพิ่มกำลังและความเรียบลื่นให้กับเครื่องยนต์ขณะใช้ความเร็วสูง
ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า ที่ 3,750 รอบ/นาที พร้อมแรงบิด 500 นิวตัน-เมตร ที่ 1,750-2,000 รอบ/นาที อัตราทดเกียร์ที่แคบลงของเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ จะช่วยเพิ่มพลังและแรงเร่ง ทำให้การไต่เขาที่ลื่นและสูงชันง่ายดายยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน Wildtrak 4×4 ยังคงสมรรถนะที่เหนือชั้นในการบรรทุกและลากจูงได้สูงสุดถึง 3,500 กก.
รุ่น Wildtrak Hi-Rider และรุ่น Limited มาพร้อมเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เทอร์โบ ให้กำลังสูงถึง 180 แรงม้า ที่ 3,500 รอบ/นาที 420 นิวตัน-เมตร ที่ 1,750-2,500 รอบ/นาที ระบบเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ นอกจากนี้รุ่น Limited ยังมีรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะให้เลือกอีกด้วย
ในส่วนของเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ทีมวิศวกรของฟอร์ดได้ให้ข้อมูลว่า เกียร์ลูกดังกว่านี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้อัตราเร่งของเครื่องยนต์ทั้ง 2 รูปแบบดีขึ้น สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ไวกว่า ซึ่งถูกออกแบบเพื่อรถขับเคลื่อนล้อหลังโดยเฉพาะ และมีความทดทานสูงผลิตด้วยวัสดุหลายชนิดทั้งเหล็กกล้า อะลูมิเนียมและคอมโพสิท อีกทั้งระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ยังมาพร้อมโปรแกรมเรียนรู้รูปแบบการขับขี่ ที่สำคัญมีลักษณะโครงสร้างเกียร์เหมือนกับฟอร์ด F-150, F-150 Raptor รวมไปถึง Mustang อีกด้วย
ระบบช่วงล่าง New FORD RANGER ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดการโคลงตัวและการควบคุมการทรงตัวที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น โดยเน้นที่การยกระดับประสบการณ์การขับขี่เมื่อบรรทุกและลากของหนัก ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบช่วงล่างใหม่นี้ช่วยให้สมรรถนะในการขับขี่ดีขึ้น ลดการโคลงตัวและเพิ่มความแม่นยำในการควบคุมทิศทาง
ช่วงทดสอบ : สำหรับกิจกรรมการทดสอบทีมงานฟอร์ดได้เลือกใช้เส้นทางในเขตจังหวัดเชียงราย โดยเตรียมรถให้สื่อมวลชนได้ขับทั้งหมด 3 รุ่น คือ Limited, Wildtrak Hi-Rider และ Wildtrak 4×4 หลังจากรับฟังข้อมูลรายละเอียดตัวรถแล้วก็ออกเดินทางจากโรงแรมเลอ เมอริเดียน โดยวันแรกทีมงาน 9Carthai ได้ขับรุ่น Wildtrak Hi-Rider เป็นรุ่นขับเคลื่อน 2 ยกสูง โดยลักษณะของเส้นทางการทดสอบส่วนใหญ่เป็นทางเรียบเกือบทั้งสิ้น ขับกันเป็นขบวนเรียงเบอร์รถ โดยทีมงานอินสตรัคเตอร์ขับนำและปิดท้ายเพื่อความปลอดภัย มีจุดหมายปลายทางแรกที่อำเภอแม่จัน
ลักษณะเส้นทางในช่วงรถเคลื่อนผ่านเขตเมืองเป็นถนน 4 เลนมีเกาะกันกลาง ต่อจากนั้นต่อเนื่องเข้าสู่ถนนสายรองซึ่งเป็นสองเลนสวน ในบางช่วงที่ต้องเจอกับรถอื่นๆ ที่แล่นช้าเป็นระยะๆ ทำให้ต้องมีการขับแซง ทำให้พิสูจน์กับสมรรถนะของเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เทอร์โบเดี่ยว (VG Turbo) 180 แรงม้า ที่ 3,500 รอบ/นาที 420 นิวตัน-เมตร และการทำงานเกียร์อัตโนมัติแบบ 10 จังหวะได้อย่างดี
โดยช่วงที่ความเร็วลอยตัวอยู่ประมาณ 80-90 กม./ชม. การกดคันเร่งเพื่อให้รถพุ่งทะยานไปข้างหน้าเพื่อแซง สัมผัสได้ถึงพละกำลังของเครื่องยนต์ที่ตอบสนองได้รวดเร็ว กดคันเร่งเติมเท่าไหร่ความเร็วรถก็ยังไหลเพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่อง ทำให้การแซงทุกครั้งทำได้อย่างมั่นใจ ส่วนการไต่ระดับความเร็วก็ทำได้ง่าย รู้สึกว่ากำลังของเครื่องยนต์ยังมีแบบเหลือๆ ยิ่งทำงานกับเกียร์อัตโนมัติที่ตัดต่อกำลังได้ราบเรียบรวดเร็วก็ยิ่งเสริมให้การขับมีความสนุกตลอดเวลา ช่วงความเร็ว 90 กม./ชม. รอบเครื่องยนต์ 1,500 รอบ/นาที, 100 กม./ชม. 1,600 รอบ/นาที, 120 กม./ชม. 1,800 รอบ/นาที และ 130 กม./ชม. 2,000 รอบ/นาที (ทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งเกียร์ 10)
จากนั้นเดินทางไปยังไร่พีบี วัลเลย์ เพื่อทดสอบระบบความปลอดภัยและความสบายในการขับขี่ เริ่มต้นกับระบบระบบตรวจจับคนเดินถนน (AEB) และระบบตรวจจับยานพาหนะ (Vehicle Detection) ทีมงานได้เตรียมรถจำลองจอดไว้ และให้เราขับด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. (และต้องไม่ต่ำกว่า 3.6 กม./ชม.) พุ่งเข้าหารถที่จอดอยู่โดยไม่ต้องเหยียบเบรก ซึ่งเมื่อใกล้จะถึงรถจำลอง New FORD RANGER ก็เบรกโดยอัตโนมัติพร้อมกับมีสัญญาณไฟขึ้นเตือนที่มาตรวัดความเร็ว ซึ่งหลังจากระบบทำงานแล้ว 2 วินาทีผู้ขับต้องทำการกดแป้นเบรกเองอีกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้รถหยุดสนิท
ส่วนระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) แบบเทียบข้าง ทั้งนี้ช่วยให้การจอดรถง่ายขึ้น โดยทีมงานได้เตรียมรถจอดแนบไว้ริมถนน 2 คัน โดยทิ้งระยะห่างระหว่างกัน 5.5 เมตร จากนั้นเพียงผู้ขับขี่เปิดใช้งานโดยกดสวิตช์ที่คอนโซลกลาง ระบบก็จะทำการสแกนหาพื้นที่จอด เมื่อพบแล้วระบบก็จะแจ้งให้ทราบผ่านหน้าจอที่แดชบอร์ด พร้อมขึ้นคำสั่งให้เราคอยควบคุมเบรกและเกียร์ ส่วนพวงมาลัยระบบจะควบคุมรถให้เข้าจอดในพื้นที่จอดโดยอัตโนมัติ
สำหรับกิจกรรมทดสอบวันที่ 2 ทีมงาน 9Carthai ได้เปลี่ยนมาขับ Wildtrak 4×4 ซึ่งสภาพอากาศวันนี้ค่อนข้างเป็นอุปสรรคต่อการใช้ความเร็วเพราะมีฝนตกลงมาตลอดเวลา อีกทั้งเส้นทางวันนี้นับว่าหินขึ้น เพราะส่วนใหญ่เป็นโค้งตัดสลับขึ้น-ลงเขาไปมาตลอด โดยเลาะชายโขงจากอำเภอเชียงผ่านเชียงแสน ต่อเนื่องไปที่อำเภอแม่จัน
โดยสิ่งที่สัมผัสได้กับการขับในลักษณะเส้นทางแบบนี้อย่างชัดเจน คือสมรรถนะและอัตราเร่งของเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร Bi-Turbo 213 แรงม้า พร้อมแรงบิดระดับ 500 นิวตัน-เมตร ที่ 1,750-2,000 รอบ/นาที ที่ตอบสนองได้แบบเนียนๆ แม้ว่าไม่ถึงกับกระชากดึงจนหลังติดเบาะ แต่ทว่ากับทำให้รู้สึกว่าขับขี่ได้สนุกเพลิดเพลิน เหยียบคันเร่งเมื่อไหร่เรี่ยวแรงก็ถ่ายทอดออกให้สัมผัสตลอดเวลาไม่ว่าช่วงรอบต่ำหรือรอบสูง เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ 3.2 ในระดับรอบเครื่อง 2,500 รอบเท่ากัน พละกำลังของเครื่องยนต์ 2.0 Bi-Turbo ยังสามารถตอบสนองแบบต่อเนื่องและมีความลื่นไหลมากกว่า ช่วงความเร็ว 100 กม./ชม. รอบเครื่องยนต์ 1,500 รอบ/นาที, 110 กม./ชม. 1,600 รอบ/นาที, 120 กม./ชม. 1,800 รอบ/นาที (ทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งเกียร์ 10)
สำหรับระบบช่วงล่างทั้ง 2 รุ่น ที่ได้ขับทดสอบให้ฟิลลิ่งแทบไม่ต่างกันมากนัก โดยยังคงรูปแบบเดิมด้านหน้าเป็นแบบอิสระ Double Wishbone กับ Coil Spring ส่วนช่วงล่างด้านหลังแหนบซ้อน Leaf Spring แต่ก็มีการเช็ตใหม่เพื่อให้ลงตัวเหมาะสมกับน้ำของเครื่องยนต์ที่เบาลงกว่า ซึ่งจากการที่ได้ขับทั้งในเส้นทาง On Road มีทั้งตรงหรือทางโค้ง รวมถึงเส้นทางกึ่งๆ Off Road การซับแรงจากพื้นผิวไม่ว่ารอยต่อถนน หลุม ทางต่างระดับ ทำได้ดีขึ้นรู้สึกว่านุ่มนวลกว่าเดิมแบบชัดเจน การยึดเกาะถนนในความเร็วทั่วไป 100-140 กม./ชม. ยังทำได้ค่อนข้างดี แต่ทว่าในช่วงใช้ความเร็วสูงหรือต้องเปลี่ยนเลนกะทันหัน รู้สึกว่ารถมีอาการลอยๆ หวิวๆ อยู่บ้าง ซึ่งรวมๆ อาจจะรู้สึกว่าความกระชับคมนิ่งลดลงกว่าเดิม แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้วก็นับว่าระบบช่วงล่างของ New FORD RANGER ยังเหนือกว่า
รุ่น Wildtrak มีให้เลือก 2 รุ่น ราคาตั้งแต่ 1,029,000-1,265,000 บาท ส่วนรุ่นลิมิเต็ด (LTD) มีให้เลือก 4 รุ่น ราคาตั้งแต่ 889,000-1,029,000 บาท
บทสรุป : หลังจากการทดสอบ New FORD RANGER สิ่งที่ยังคงความโดดเด่นแบบเหนือกว่าคู่แข่งหลายๆ ค่าย คงหนีไม่พ้นสมรรถนะของเครื่องยนต์ ซึ่งไม่การเพียงลดความจุกระบอกสูบให้มีขนาดเล็กลงเท่านั้น ขณะเดียวกันยังยกระดับความเร้าใจเพิ่มขึ้นด้วยพละกำลังที่มีอย่างเกินตัว อีกทั้งยังส่งผลดีในการช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการต่อภาษี เมื่อควบรวมเข้ากับเทคโนโลยีระบบช่วยขับ กับระบบความปลอดภัยทั้งเชิงป้องกันและเชิงแก้ไข ก็ยิ่งผลักดันให้รถรุ่นนี้มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดต่อยอดจำหน่ายคือ การแก้ปัญหาบริการหลังการขาย เพื่อดึงความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเดิมกลับมาและรวมถึงสร้างความไว้ใจต่อลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น
รถไฟฟ้าที่น่าสนใจ...
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " GROUP TEST : รีวิวW NEW FORD RANGER 2018 สัมผัสใหม่กับขุมพลัง Bi-TURBO 213 แรงม้า "