
เชฟโรเลตส่งเทรลเบลเซอร์ เอสยูวีที่พร้อมสำหรับทุกสถานการณ์การขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าจราจรในเมืองหรือลุยเส้นทางออฟโรดแบบสมบุกสมบัน รวมทั้งให้ความสะดวกสบายในการเดินทางไกล ทั้งนี้ เชฟโรเลตหวังใช้เทรลเบลเซอร์เป็นอาวุธในการรุกตลาดรถเอสยูวี โดยใช้การออกแบบบนพื้นฐานเดียวกันกับรถกระบะโคโลราโดรุ่นใหม่ล่าสุด
เทรลเบลเซอร์จึงผสมผสานสไตล์ในแบบรถยนต์นั่งเข้ากับโครงสร้างรถกระบะขนาด กลางที่ทีมวิศวกรของจีเอ็มได้ออกแบบให้มีสมรรถนะเข้ากับพฤติกรรมการใช้รถใช้ ถนนของลูกค้าชาวไทย ผลลัพธ์ที่ได้คือยานยนต์อเนกประสงค์ที่มีคุณสมบัติพร้อมสรรพลงตัว และมีให้เลือก 4 รุ่นคือ รุ่น 2.5 แอลที ขับเคลื่อน 2 ล้อ เกียร์ธรรมดา ราคา 1.059 ล้านบาท, รุ่น 2.8 แอลที ขับเคลื่อน 2 ล้อ ราคา 1.249 ล้านบาท และขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคา 1.299 ล้านบาท, รุ่น 2.8 แอลทีแซด ขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคา 1.389 ล้านบาท และตัวท็อปที่นำมาทดสอบในคอลัมน์ “ป้ายแดงชวนขับ” ประจำเดือนนี้คือ รุ่น 2.8 แอลทีแซด1 ขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคา 1.489 ล้านบาท
เนื่องจากเทรลเบลเซอร์ได้รับการออกแบบควบคู่มากับรถกระบะโคโลราโด ขนาดของตัวถังและรายละเอียดจึงดูคล้ายกับรถเอสยูวีขนาดใหญ่ ส่วนผิวนอกตัวถังเน้นดูเรียบเนียนราวกับเป็นโลหะชิ้นเดียว แต่เติมสีสันให้กับตัวรถด้วยเส้นสายและเหลี่ยมมุมที่เรียบหรู ทั้งกระโปรงหน้า ประตู หรือท้ายรถ นอกจากนี้การชุบโครเมียมบางส่วนช่วยขับเน้นให้เห็นรายละเอียดบนผิวเหล็กของ ตัวถังเด่นชัดขึ้น
แผงคอนโซลหน้าเรียบหรูภายในห้องโดยสารแบบดูอัล ค็อกพิท สไตล์เชฟโรเลตขนานแท้ ทำให้เทรลเบลเซอร์เป็นยนตรกรรมที่รวมเอาคุณลักษณะของรถยนต์นั่งไว้กับความ บึกบึนแข็งแกร่งของรถอเนกประสงค์ ติดตั้งแผงควบคุมอุปกรณ์ชิ้นสำคัญไว้ในตำแหน่งที่เอื้อมถึงได้ง่าย ในขณะที่ปุ่มควบคุมต่าง ๆ บนพวงมาลัยรถช่วยให้ผู้ขับสามารถสั่งการอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย
เทรลเบลเซอร์ใช้เครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.8 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 180 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 470 นิวตัน-เมตร เมื่อใช้งานควบคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด หรือ 440 นิวตัน-เมตร เมื่อทำงานคู่กับเกียร์ธรรมดา ระบบเพลาถ่วงสมดุลที่ให้ความนุ่มนวล มีส่วนประกอบที่ทนทาน และได้รับการออกแบบมาให้เข้ารับการบำรุงรักษาเพียงหนึ่งครั้งในทุก ๆ การขับขี่ 20,000 กม. ถือเป็นความถี่ของการบำรุงรักษาที่ต่ำที่สุดในรถระดับเดียวกัน
สำหรับอุปกรณ์ความปลอดภัยนั้นมีให้ครบทั้งระบบเบรกเอบีเอส พร้อมระบบกระจายแรงเบรก เพิ่มประสิทธิภาพการเบรกสูงสุดทั้งล้อคู่หน้าและคู่หลัง และระบบรักษาเสถียรภาพการขับขี่เมื่อต้องเหยียบเบรกเต็มแรง ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและป้องกันการลื่นไถลทำงานร่วมกับเอบีเอส เป็นต้น
นอกจากนี้เชฟโรเลตยังใส่ใจความต้องการของลูกค้าด้วยการเพิ่มสีสันให้กับผู้เป็นเจ้าของสามารถเลือกความแตกต่างได้ถึง 7 สี.
……………………………………
ข้อมูลทางเทคนิค
มิติ (ยาว/กว้าง/สูง) 4,878/1,902/1,847 มม.
แบบเครื่องยนต์ ดีเซล ดูราแม็กซ์ (XLD28)
ความจุกระบอกสูบ 2,776 ซีซี
กำลังสูงสุด 180 แรงม้า ที่ 3,800 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 470 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
เกียร์ อัตโนมัติ 7 จังหวะ
ราคา 1,489,000 บาท
……………………………………
หล่อลุย สไตล์อเมริกัน
หากจะกล่าวถึงเรื่องของดีไซน์กับรถเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ รถเอสยูวีขนาดใหญ่แล้วละก็ เชื่อว่าทุกคนคงจะดูออกว่ารถคันนี้พัฒนาขึ้นมาจากเชฟโรเลต โคโลราโด โดยส่วนที่เหมือนกับโคโลราโดนั้นก็คือจากกันชนหน้าไล่ไปหาชุดบานประตูหน้า เรียกได้ว่า “เหมือน” แต่ที่เหลือหลังจากนั้นพัฒนาขึ้นมาใหม่หมดและทำได้ดีเสียด้วย เพราะดูเส้นสายจากหัวจดท้ายโดยรวมตอบรับกันได้ลงตัว สง่างามในสไตล์อเมริกันที่บึกบึนน่าเกรงขาม แต่ก็ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆน้อย ๆ ทำให้รถคันนี้ดูเฉียบคม โดยเฉพาะในรุ่นแอลทีแซด1 ที่เรานำมาทดสอบซึ่งเป็นตัวท็อปได้ติดตั้งล้อขนาด 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/60-18 ที่ดูหล่อกว่ารถรุ่นรอง ๆ อย่างชัดเจน
เทรลเบลเซอร์เป็นเอสยูวีขนาด 7 ที่นั่งอย่างแท้จริงก็คือผู้ใหญ่ที่มีความสูงเฉลี่ยไม่เกิน 180 ซม. สามารถนั่งได้อย่างสบาย ๆ ทุกตำแหน่ง และการเข้าถึงที่นั่งแถว 3 ก็ทำได้สบาย ๆ ไม่ได้ยากเย็นอะไร ขอเพียงแค่คุณมีกล้ามเนื้อที่คล่องแคล่วสักหน่อยที่จะปีนป่ายเข้าไป อย่าไปหวังว่าจะเข้าไปนั่งแถวที่ 3 ได้ง่ายเหมือนกับรถประเภทเอ็มพีวีหรือรถตู้ เพราะเราต้องเข้าใจว่ารถประเภทเอสยูวีนี้ออกแบบให้ที่นั่งแถว 3 นั้นเป็นเพียง “อุปกรณ์เสริม” ที่นาน ๆ ใช้ทีเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นว่าคนที่ใช้รถประเภทนี้จะพับเบาะที่นั่งแถว 3 เก็บอยู่เป็นส่วนใหญ่ และสำหรับเทรลเบลเซอร์แล้วการพับเบาะทำได้ง่ายดายและเรียบร้อย โดยพับลงไปกับพื้นรถ แต่น่าเสียดายที่ไม่แนบสนิทเท่าที่ควร เวลาวางของท้ายรถจะพบว่าพื้นเป็นขยักขั้นบันไดมากไปเสียหน่อย แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว เมื่อกล่าวถึงท้ายรถแล้ว ก็อยากจะขอฝากให้กับทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ “ทุกค่าย” ให้คิดเสียหน่อยว่าผู้ใช้รถประเภทนี้จำนวนมหาศาลตัวไม่ได้สูงใหญ่เหมือน ฝรั่งมะกัน โดยเฉพาะเจ้าของรถที่เป็นสุภาพสตรีความสูงเพียงแค่ 150 ซม. กว่า ๆ ทำให้การเอื้อมมือไปปิดฝากระโปรงหลังที่อยู่สูงลิ่วนั้นเป็นเรื่องน่าเห็นใจ อุปกรณ์ประเภทฝาท้ายที่เปิดปิดด้วยไฟฟ้าน่าจะเป็นอุปกรณ์เสริมที่ได้รับความ นิยมอย่างสูง
ด้านการออกแบบภายใน นับได้ว่ารถในแนวนี้ในปัจจุบันนี้ทำได้ดีมาก สวยหรูดูดี รถเก๋งยังอาย ส่วนด้านความต่างกับรถฝาแฝดอย่างอีซูซุนั้นก็คงจะเป็นเรื่องของ “แสงสี” ในรถ เชฟโรเลตเลือกที่จะใช้สีเขียวอมฟ้าดูเย็นตา ในขณะที่อีซูซุจะใช้แนวอื่น ทำให้เวลาอยู่ในรถเราแน่ใจได้ว่าขับ “เชฟโรเลต” ไม่ได้ขับยี่ห้ออื่น หน้าปัดวัดความเร็วและวัดรอบได้รับแรงบันดาลใจมาจากรถสปอร์ตตัวแรง รุ่นคามาโรหรือที่เรารู้จักกันในบทบาทของ “บัมเบิลบี” ตัวเอกจากหนังหุ่นยนต์ “ทรานส์ฟอร์เมอร์ส” หน้าปัดออกแบบได้สวยเก๋ มีเอกลักษณ์ แต่อาจจะอ่านยากไปซักนิดเพราะว่า “เล็ก” และมีอีกจุดหนึ่งที่ทำให้สงสัยเป็นอย่างมากว่าเหตุใดทีมการตลาดของเชฟโรเลต เลือกที่จะไม่ติดตั้งอุปกรณ์อย่าง “กล้องช่วยมองด้านท้ายรถ” มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เพราะรถเทรลเบลเซอร์คันนี้มีการติดตั้งวิทยุมัลติฟังก์ชั่นพร้อม
เครื่องเล่นดีวีดีที่เชื่อมต่อกับไอโฟน และระบบนำทางด้วยดาวเทียมมาให้พร้อมสรรพ ซึ่งก็แปลว่ามี “จอภาพ” มาเรียบร้อย เหตุใดกล้องถอยหลังมูลค่าไม่ถึงพันบาทกลับไม่ถูกติดตั้งมา ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เพราะเหตุใด แต่ก็เพราะรถเทรลเบลเซอร์นั้นเป็นรถที่ “ใหญ่ อลังการ” การถอยจอดไม่ว่าจะเข้าซองหรือจอดขนานนั้น หากได้กล้องถอยหลังซักตัว รับรองว่าชีวิตจะดีขึ้นมาก
สรุปการออกแบบเทรลเบลเซอร์ทำคะแนนได้ดีในด้านความหล่อเท่ ใหญ่โต บึกบึน แต่รายละเอียดบางอย่างหากปรับปรุงแล้วละก็จะสามารถเรียกได้ว่า “ไร้เทียมทาน”.
…………………………………..
เอสยูวีเท่สไตล์อเมริกัน
เอ็ม เดอะ สตาร์ หรือ อรรถพล ประกอบของ แห่งพีทีที เพอร์ฟอร์มา ดริฟท์ ทีม ที่มาทดสอบเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์รู้สึกประทับใจรูปทรงและการดีไซน์ภายนอกที่ดูแปลกใหม่ไม่ซ้ำกับ รถยี่ห้ออื่น แม้ว่ายังมีพื้นฐานคล้ายโคโรลาโด โดยเฉพาะด้านหน้าแต่ด้านหลังกลับแตกต่างอย่างน่าสนใจ เพราะเป็นได้ทั้งรถอเนกประสงค์ที่ใช้ขับในเมืองและสามารถลุยได้ด้วย แถมดูเท่และบึกบึน
เอ็มอธิบายให้เห็นภาพว่าเทรลเบลเซอร์รุ่นท็อปได้รับการดีไซน์ให้ผสมผสาน อย่างลงตัวระหว่างเบาะและคอนโซลหน้าที่ใช้สีเบจตัดกับสีเทาได้อย่างสวยงาม ประทับใจตั้งแต่เข้ามานั่งประจำที่คนขับ ยกเว้นพวงมาลัยที่ปรับได้แค่ระดับสูงต่ำเท่านั้น ซึ่งมีผลต่อการขับทางไกลที่อาจทำให้เมื่อยล้าได้ แต่ไม่ได้ทำให้การขับลำบากนักเพียงแค่ปรับเบาะก็ช่วยได้ เบาะค่อนข้างใหญ่เหมาะกับคนตัวโตมากกว่าคนตัวเล็ก เวลานั่งแล้วลื่นไหลได้เพราะไม่ได้โอบกระชับเท่าไร แต่เบาะผู้โดยสารแถว 2 เกาะกระชับอยู่พอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องปกติของรถเอสยูวีที่เน้นนั่งสบายมากกว่า
เอ็มไม่รู้สึกว่าแผงหน้าปัดโดดเด่นเท่าไรนัก แต่เชื่อว่าวัยรุ่นรับได้ การวางตำแหน่งอุปกรณ์การใช้งานที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก ดูง่าย มีฟังก์ชั่นบนพวงมาลัยมีครบถ้วน เช่น สามารถปรับเครื่องเสียงหรือระบบเนวิเกเตอร์ได้โดยไม่ต้องละมือจากพวงมาลัย พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้านที่ค่อนข้างใหญ่ ถ้าขับทางไกลจะไม่สบายมือ
“ระบบเนวิเกเตอร์ซึ่งเป็นระบบทัชสกรีนนั้นทำงานเร็วเกินไป ทำให้การเลื่อนหาตำแหน่งเร็วจนคนขับรถดูลำบาก ต้องมีสมาธิ หรือเพื่อความปลอดภัยให้จอดรถเพื่อหาตำแหน่งก่อน”
เอ็มอธิบายต่อว่าเทรลเบลเซอร์มีระบบแทร็คชั่น คอนโทรล ช่วยป้องกันการลื่นไถลที่สามารถเลือกเปิดหรือปิดก็ได้ แต่ในการใช้งานควรเปิดเอาไว้ เพราะเป็นระบบความปลอดภัยที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ยังมีระบบช่วยในการลงเขา ระบบช่วงล่างแน่นหนาดีในสไตล์รถยุโรป พวงมาลัยหนักเมื่อใช้ความเร็วต่ำซึ่งมีข้อดีคือ ถ้าขับเร็ว รู้สึกมั่นใจแม้ว่าหักพวงมาลัยเร็ว ๆ ก็ตาม แต่ถ้าขับช้า คนขับจะรู้สึกว่าพวงมาลัยหนักกว่ารถทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการใช้ล้อขนาด 18 นิ้วและใช้ยางหน้ากว้างทำให้สัมผัสผิวถนนมาก รถจึงเกาะถนนยิ่งขึ้น
ด้านการทดสอบนั้น เอ็มบอกว่าขับสบายในโหมดเกียร์อัตโนมัติ แต่เสียตรงที่ไม่มีระบบเปลี่ยนเกียร์แบบแมนนวลที่พวงมาลัย สำหรับระบบเกียร์ของเทรลเบลเซอร์ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อนี้ เราสามารถเลือกเปลี่ยนโหมดของระบบเกียร์ได้ระหว่างที่รถเคลื่อนที่อยู่จาก โหมดขับเคลื่อน 2 ล้อไปเป็นโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในช่วงออกตัวรถอืดไปสักนิด โดยรวมความเร็วช่วงต้นถือว่าโอเค ช่วงกลางและช่วงปลายไม่ค่อยแรง ต้องอาศัยการลดเกียร์ช่วย
โดยรวมแล้ว เอ็มบอกว่าเทรลเบลเซอร์มีจุดเด่นที่ระบบช่วงล่างมั่นคง เวลาขับบนทางด่วนเจอกระแสลมแรง รถไม่มีอาการร่อนปลิว ระบบเบรกนุ่มนวล ให้ความมั่นใจแม้เบรกกะทันหัน เพราะมีระบบชดเชยแรงดันเบรกและป้องกันอาการเบรกล็อก ระบบความปลอดภัยมีค่อนข้างมากตามมาตรฐานของรถยุโรป ทัศนวิสัยชัดเจน ไม่มีจุดบอด นั่งขับแล้วเห็นหน้ารถโดยไม่ต้องชะเง้อ ส่วนข้อติเล็กน้อยคือตอนขับเร็วมีเสียงลมเข้าห้องโดยสาร.
ลำยอง ปกป้อง เรื่อง / พิชญวัลน์ ปรุงศักดิ์ ภาพ
ขอขอบคุณข้อมูล เดลินิวส์
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " Trailblazer เทรลเบลเซอร์ ลุยได้ทุกเส้นทาง – ป้ายแดงชวนขับ "